แบงก์กรุงเทพกำไรสุทธิไตรมาส 1ปี 2565 จำนวน 7,118 ล้านบาท

21 เม.ย. 2565 | 11:58 น.
อัปเดตล่าสุด :21 เม.ย. 2565 | 19:10 น.

ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 1 ปี 2565 จำนวน 7,118 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน -รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น10.4% จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินให้สินเชื่อ ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 2.11%

ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 1 ปี 2565 จำนวน 7,118 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อนพร้อมตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 6,489 ล้านบาท ยังคงดำรงฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ

 

สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงร้อยละ 16.1 ส่วนใหญ่จากกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดด้วยมูลค่ายุติธรรมลดลงตามสภาวะตลาด และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงจากธุรกิจบัตรเครดิต และบริการประกันผ่านธนาคารและกองทุนรวม

ขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลงร้อยละ 1.6 ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 49.8 ทั้งนี้ ธนาคารตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 6,489 ล้านบาท ธนาคารกรุงเทพยังคงดำรงฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ

 

ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,587,534 ล้านบาท อยู่ในระดับเดียวกับสิ้นเดือนธันวาคม 2564 โดยมีสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่เพิ่มขึ้นสุทธิกับการลดลงของสินเชื่อกิจการต่างประเทศ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 3.3 ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังและรอบคอบมาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งและเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 229.0

ด้านเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 จำนวน 3,194,460 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2จากสิ้นปีก่อน เป็นผลจากการที่ลูกค้ายังคงต้องการดำรงสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงในภาวะที่ยังมีความไม่แน่นอนทำให้อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ร้อยละ 81.0 ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ร้อยละ 19.5 ร้อยละ 16.0 และร้อยละ 15.2 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

 

ทั้งนี้  ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง จากผลกระทบอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอีกรอบ รัฐบาลจึงต้องเข้มงวดเรื่องการเข้าเมืองอีกครั้ง ทำให้การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศชะลอลง ขณะเดียวกัน สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน นำไปสู่การปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและพลังงานโลก ตลอดจนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ บางประเภท ด้วยเหตุนี้ อัตราเงินเฟ้อจึงได้ปรับเพิ่มขึ้นในประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย ทำให้การบริโภคของภาคเอกชนภายในประเทศชะลอตัว

 

นอกจากนี้ ยังทำให้ธนาคารกลางในบางประเทศต้องเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก ทำให้ภาคการส่งออกของไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัวได้เพียงร้อยละ 12.2 จากเดิมที่เคยขยายตัวได้ถึงร้อยละ 22.1ในไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้าความผันผวนของตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลก จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

 

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีแนวโน้มว่าจะใช้เวลานานและไม่เท่ากัน โดยแต่ละธุรกิจใช้เวลาในการปรับตัวที่แตกต่างกันออกไป บางธุรกิจฟื้นตัวได้รวดเร็วเช่นกิจการส่งออกไปต่างประเทศในขณะที่บางธุรกิจฟื้นตัวช้ากว่าเช่นกิจการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและสันทนาการ

ทั้งนี้ธนาคารกรุงเทพได้ดำเนินการช่วยเหลือลูกค้าในแต่ละภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบในแต่ละช่วงที่ลูกค้าประสบปัญหาโดยเน้นให้การสนับสนุนสภาพคล่องทั้งในระยะสั้นเพื่อประคับประคองให้ธุรกิจอยู่รอด และสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนเมื่อธุรกิจกลับมาฟื้นตัว

 

นอกจากนี้ ธนาคารดำเนินธุรกิจด้วยเจตนารมณ์ของการเป็น “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” พร้อมแบ่งปันความรู้และความเชี่ยวชาญเพื่อสนับสนุนลูกค้าให้เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการให้คำแนะนำในการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจตามแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ  ขณะเดียวกันธนาคารได้ให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง