มาตรการกำกับการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เพื่อดับความร้อนแรงของหุ้นบมจ.จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น(JTS) ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2564 ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ไม่สามารถทำอะไรกับหุ้น JTS ได้
ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประเดิมใช้มาตรการกำกับการซื้อขายในระดับสูงสุด ด้วยการหยุดพักการซื้อขายหุ้น( SP) เป็นเวลา 1 วันทำการกับหุ้น JTS พร้อมกับหุ้นบมจ. บีจีที คอร์ปอเรชั่น (BGT) ในวันที่ 20 เมษายน 2565 หลังจากนั้นเมื่ออนุญาตให้ซื้อขาย ยังคงห้าม Net Settlement, ห้ามนำหลักทรัพย์มาคำนวณเป็นวงเงินซื้อขาย และต้องซื้อด้วยการนำเงินสดมาวาง 100% ก่อนซื้อ (บัญชี Cash balance)
ทั้งนี้เนื่องจาก สภาพการซื้อขายหุ้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทั้งที่ไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ และเมื่ออนุญาตให้ซื้อขายแล้ว หากสภาพการซื้อขายยังคงเปลี่ยนแปลงไม่สอดรับกับปัจจัยพื้นฐาน จะดำเนินการตามมาตรการ ด้วยการหยุดพักการซื้อขายเป็นเวลา 1 วันทำการเป็นระยะๆ
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ยกระดับมาตรการกำกับการซื้อขายหุ้นให้เข้มงวดขึ้น โดยมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา
มาตรการ 3 ระดับคือ
ราคาหุ้น JTS ถูกลากขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง นับจากต้นปี 2564 ซึ่ง JTS ถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศใช้มาตรการกำกับการซื้อขายรวม 12 ครั้ง แต่ราคาหุ้นปิด ณ สิ้นปี 2563 ที่ 1.93 บาท ทะยานขึ้นมาปิดที่ 552 บาท เมื่อวันอังคารที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา ก่อนจะถูก SP ภายในเวลาปีเศษ JTS ปรับเพิ่มขึ้น 550.07 บาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 28,501% ขณะที่ค่า P/E ratio หุ้น JTS พุ่งขึ้นไปประมาณ 1,764.21 ล้านบาท โดยทำกำไรสุทธิในปี 2564 เพียง 221 ล้านบาท มาร์เก็ตแคปล่าสุด อยูที่ 389,964 ล้านบาท
ทันทีที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดให้ซื้อขายหุ้น JTS เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 แม้ราคาหุ้นจะดิ่งลงสู่ระดับ 504 บาท ลดลง 48 บาท หรือลดลง 8.70% แต่จากนั้นไม่นานราคาจะกลับมาทะยานทำสถิติใหม่ในราคาสูงสุดที่ 570 บาทเพิ่มขึ้น 18.00 บาท หรือ 3.26% ก่อนที่ราคาจะปักหัวลงมาอีกครั้งปิดการซื้อขายที่ 548 บาท ลดลง 4.00 บาท มูลค่าการซื้อขายทั้งสิ้น 424.96 ล้านบาท
JTS ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2538 ภายใต้ชื่อบมจ. จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2549 ด้วยราคาที่เสนอขายให้กับนักลงทุนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) หุ้นละ 3.20 บาท ทีี่มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) 1.00 บาท
ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ. จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564 พร้อมกับการประกาศเดินหน้าธุรกิจเหมืองขุดบิทคอยน์ ซึ่งจะเริ่มรับรู้กำไรตั้งแต่กลางปี 2564 หลังจากบริษัทได้จัดซื้อเครื่องขุดบิดคอยน์และเริ่มดำเนินการไปแล้วกว่า 300 เครื่อง และตามแผนในปี 2565 บริษัทจะลงทุนเพิ่มเครื่องขุดบิทคอยน์อีก 6,300 เครื่อง ใช้งบลงทุน 3,300 ล้านบาท
สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ 5 อันดับ ของ JTS ณ วันที่ 2 มีนาคม 2565 ประกอบด้วย 1. บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 32.80% 2.นายพิชญ์ โพธารามิก สัดส่วน 9.59% 3. บริษัท เอเซียส รีเยนแนล เซอร์วิส จำกัด สัดส่วน 9.06% 4. บริษัท ที.เจ.พี.เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด สัดส่วน 9.05% และ 5. น.ส. พร้อมศิริ สหบุญธรรม สัดส่วน 6.21%
นายพิชญ์ ถือหุ้นใน JTS สัดส่วน 9.59% เมื่อรวมกับ บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนลหรือ JAS ที่ถือใน JTS 32.80% ซึ่งนายพิชญ์ ถือหุ้นใหญ่ JAS สัดส่วน 53.77% จึงเท่ากับเสี่ยพิชญ์ ถือหุ้น JTS ส่วนนี้ผ่าน JAS อีกราว 17.64%
นอกจากนี้ หากรวมกับการถือหุ้นทางอ้อมที่ JAS ถือหุ้น JTS ผ่านบริษัท เอเซียส รีเยนแนล เซอร์วิส จำกัด หรือ ARS (ตามตารางผู้ถือหุ้น) (ARS ถือหุ้นโดย บริษัท เอเซียส (ประเทศไทย) (ACT) 98.04% และ ACT ถือหุ้นโดย บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่่นแนล โอเวอร์ซีส์ จำกัด (JIOC”) 58.84% และ JAS ถือหุ้นใน JIOC 39.82% )
รวมกับหุ้นในส่วนบริษัท ที.เจ,พี. เอ็นจิเนียริ่่ง จำกัด (“TJP”) ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 4 ใน JTS ซึ่ง TJP เป็นบริษัทย่อยของ JAS โดยถือหุ้น 80% และบริษัท อคิวเมนท์ จำกัด (“ACU”) (บริษัทในเครือของ JAS) ถือหุ้น 20%
คำนวณเบ็ดเสร็จแล้ว เสี่ยพิชญ์ โพธารามิก ถือหุ้นใน JTS ทั้งสิ้นราว 228.69 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 32.37% เป็นมูลค่ารวม 126,236.88 ล้านบาท (คำนวณจากราคา ปิด ณ 19 เมษายน 65 หุ้นละ 552 บาท) และหากเทียบกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 65 ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกเตือนให้ผู้ลงทุนพิจารณาข้อมูลอย่างรอบคอบ ก่อนเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลงทุนในธุรกิจขุดเหมืองเงินดิจิทัลหลังพบสภาพมีลักษณะเก็งกำไรสูง
ณ วันนั้น มีการคำนวณสัดส่วนการถือหุ้นของนายพิชญ์ ใน JTS ทั้งสิ้นราว 222.26 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 31.46% เป็นมูลค่ารวม 59,566 ล้านบาท (คำนวณจากราคา ปิด ณ 14 กุมภาพันธ์ 2565 หุ้นละ 268 บาท) แค่เพียง 2 เดือน ความมั่งคั่งของนายพิชญ์ ใน JTS เพิ่มขึ้นถึง 66,670.88 ล้านบาท
นอกจากนั้น หากรวมพอร์ตหุ้นในมือเสี่ยพิชญ์ถือใน JAS สัดส่วน 53.77% มูลค่า 16,909 ล้านบาท (คำนวณจากราคาปิด วันที่ 19 เมษายน 65 หุ้นละ 3.66 บาท) และหุ้น บมจ. โมโน เน็กซ์ (MONO) ถือ 65.12% มูลค่า 4,555.44 ล้านบาท (คำนวณจากราคาปิด 19 เมษายน 65 หุ้นละ 2.22 บาท)
ความมั่งคั่งของนายพิชญ์ในตลาดหุ้นวันนี้ แตะ 147,701.32 ล้านบาท เป็นรองก็เพียงนายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ที่ประกาศรุกธุรกิจดิจิทัล Digital Business) อย่างเต็มตัว หลังปิดดีลร่วมลงทุน กับไบแนนซ์ (Binance) กระดานซื้อขายคริปโตอันหนึ่งของโลก