หุ้นบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน ซื้อขายวันแรก 27 เม.ย.65 หลังเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อ 18 เมษายนกับกระบวนการแลกหุ้นจากธนาคาร ไทยพาณิชย์ เป็น บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (SCBx) ในอัตรา 1 ต่อ 1 หุ้น ซึ่งได้รับการตอบรับสูงถึง 99.06% ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมด
หลังจากนำ SCBx เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แล้ว จากนั้นจะเป็นการโอนกิจการต่างๆ ตามที่ประกาศไปแล้วคือ กลุ่มที่ 1 บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ภายใต้การถือหุ้นโดยธนาคาร ไทยพาณิชย์ หลังการปรับโครงสร้างประกอบด้วย 10 บริษัท กลุ่มที่ 2 บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่มีแผนโอนการถือหุ้นให้ SCBx ภายหลังการปรับโครงสร้างจำนวน 10 บริษัท
การปรับโครงสร้างองค์กรในเชิงการจัดการต่างๆ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแต่ละชุด รวมถึงการสร้างกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการ (บอร์ด) ของ SCBx กับบอร์ดของธนาคาร ไทยพาณิชย์ การขยับตำแหน่งภายในแล้ว ยังเห็นการดึงบุคลากรระดับคีย์แมนจากองค์กรระดับแถวหน้า ไม่ว่าจะเป็น “กฤษณ์ จันทโนทก” อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ) จากเอไอเอ ประเทศไทย เข้ามารับตำแหน่งซีอีโอธนาคาร ไทยพาณิชย์ คนใหม่ เพื่อผลักดันยุทธศาสตร์ในการเป็น “ธนาคารที่ดียิ่งขึ้น” หรือ To Be A Better Bank
การจัดบ้านใหม่ของไทยพาณิชย์ ส่งผลให้ “3 ผู้จัดการใหญ่” ของธนาคาร ต้องลุกจากเก้าอี้ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 ได้แก่ “สารัช รัตนาภรณ์, อภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ และ ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์” เพื่อไปนั่งเก้าอี้ใหม่ในฐานะซีอีโอ 3 บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงิน ประกอบด้วยบริษัท คาร์ดเอกซ์จำกัด บริษัท ออโต้ เอกซ์ จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด ภายใต้ยานแม่ SCBx
ดังนั้นภายใต้การบริหารของ “กฤษณ์ จันทโนทก” ยังต้องจับตาดูว่า จะดึงคีย์แมนคนไหนเข้ามาเสริมทีมอีก หลังจากก่อนหน้าได้ดึง “ดร.สมประวิณ มัณประเสริฐ” เข้ามานั่งตำแหน่ง รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) แทนดร.ยรรยง ไทยเจริญ ที่ต้องขึ้นไปดูงานที่กว้างขึ้นในตำแหน่ง รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ดูแลกลุ่มธุรกิจเวลธ์ควบคู่กับกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะที่ “อาทิตย์ นันทวิทยา” จะดำรงตำแหน่งในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCBx แม้จะพ้นจากตำแหน่ง “ซีอีโอธนาคาร”
หลังประกาศยุทธศาสตร์ยานแม่ SCBx เป็นกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีทางการเงินระดับภูมิภาค ทำให้จำนวนผู้ใช้งานผ่านช่องทางดิจิทัล ณสิ้นไตรมาส 1/65 เพิ่มขึ้นจาก 15.4 ล้านรายเป็น 21.4 ล้านราย การให้สินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น 59% จากปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน 29% ของสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ส่งผลให้รายได้ด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้น 88% จากปีก่อนและคิดเป็นประมาณ 4% ของรายได้รวมในไตรมาสนี้
ขณะเดียวกันยังมีความคืบหน้าด้านดิจิทัลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น SCB ประกาศร่วมลงทุนรอบ Series B ใน Sygnum ธนาคารสินทรัพย์ดิจิทัลแบบครบวงจรแห่งแรกของโลกที่มุ่งขยายการบริการสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อรองรับการเติบโตของเว็บ 3.0 ให้กับลูกค้าสถาบัน
SCB10x ประกาศร่วมลงทุนต่อเนื่องใน Darwinbox แพลตฟอร์มช่วยบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลสำหรับองค์กรดันสูงยูนิคอร์นรายล่าสุด และ TokenX จับมือ iAM ผู้ดูแลศิลปินวง BNK48 เปิดตัว “BNK Governance Token” Utility Token พร้อมใช้บนแอปพลิเคชั่น iAM48 มุ่งสร้างมิติใหม่ให้อุตสาหกรรมบันเทิงไทยด้วยโทเคนดิจิทัล
ธนาคารประกาศเข้าลงทุนเชิงกลยุทธ์ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐใน Akulaku แพลตฟอร์มสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มุ่งสู่การเป็นกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาค และ ALPHA X ผู้ให้บริการทางการเงินเพื่อยานพาหนะหรู เดินเครื่องธุรกิจสินเชื่อยานพาหนะ เจาะกลุ่มลูกค้ามั่งคั่ง พร้อมมอบประสบการณ์ใหม่ในการครอบครองยานพาหนะหรู ตั้งเป้าปี 2568 ดันพอร์ตสินเชื่อกว่า 2 หมื่นล้านบาท