นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.)หรือ SAM เปิดเผยว่า SAM พร้อมดำเนินการตามมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ในการปรับเกณฑ์คุณสมบัติลูกหนี้ที่สมัครเข้าร่วม โครงการคลินิกแก้หนี้ ที่มีสถานะเป็น NPL จากเดิม วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นก่อนวันที่ 1 เมษายน 2565 เพื่อขยายความช่วยเหลือให้ครอบคลุมลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ของธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน (Non-Bank)
“ลูกหนี้ที่เข้าเงื่อนไขดังกล่าว สามารถเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป การปรับหลักเกณฑ์ครั้งนี้ นับเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ที่สมัครเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ เนื่องจากจะได้รับดอกเบี้ยต่ำเป็นอัตราเดียว (Single Rate) เพียง 5% ต่อปี และระยะเวลาการผ่อนนานสูงสุดถึง 10 ปี”นายธรัฐพรกล่าว
ที่ผ่านมา โครงการคลินิกแก้หนี้ ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการขยายระยะเวลาจ่ายคืน การลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้ภาระการชำระค่างวดรายเดือนของลูกหนี้ลดลงมาอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ และโดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในปี 2563-2564 โครงการคลินิกแก้หนี้ มีมาตรการเพิ่มเติมให้กับลูกหนี้ในโครงการลินิกแก้หนี้ ที่ได้รับผลกระทบภายใต้มาตรการช่วยเหลือ ระยะที่ 3 “ยาสูตรจ่ายเท่าที่ไหว” (กรกฎาคม - ธันวาคม 2564)
ทั้งนี้ ตั้งแต่เปิดโครงการคลินิกแก้หนี้จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2565 มีลูกหนี้เข้าร่วมโครงการสะสมทั้งสิ้นจำนวน 26,701 ราย หรือคิดเป็น 80,844 บัญชี ภาระหนี้เงินต้น 6,120 ล้านบาท โดยเฉลี่ยลูกหนี้ 1 ราย มีเจ้าหนี้ 2 ราย และมีค่าเฉลี่ยเงินต้นคงเหลือ 233,457 บาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นลูกหนี้ที่เข้าโครงการในช่วงปี 2563-2564 ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวน 20,425 ราย หรือคิดเป็น 60,356 บัญชี
สำหรับมาตรการช่วยเหลือ ระยะที่ 3 “ยาสูตรจ่ายเท่าที่ไหว” (กรกฎาคม - ธันวาคม 2564) ที่กำหนดให้ลูกหนี้ชำระหนี้เฉลี่ยได้ตั้งแต่ 40% ขึ้นไปของค่างวด ได้รับส่วนลดดอกเบี้ย 1-2% ต่อปี พบว่า ในช่วงดังกล่าว มีลูกหนี้ในโครงการถึง 85% ที่ได้รับส่วนลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม