เอฟเฟค‘ดอกเบี้ยเฟด’ กดบาทอ่อน กระทบอย่างไร

08 พ.ค. 2565 | 02:50 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ค. 2565 | 10:32 น.

กูรูประสานเสียง “เงินบาท” มีโอกาสอ่อนค่าแตะ 36 บาท “ทีทีบี” คาดส่งออกไทยยังเป็นพระเอก ดึงจีดีพี แม้เศรษฐกิจคู่ค้า-จีนชะลอตัว “กรุงไทย” จับตาธนาคารกลางลดงบดุลตามเฟดไตรมาส 3 อาจทำสภาพคล่องหายจากระบบกว่า 7 หมื่นล้านดอลลาร์

ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% พร้อมประกาศแผนการลดงบดุลเป็นสองรอบ เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนวงเงิน 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน ก่อนที่จะเพิ่มอัตราการลดงบดุลเป็น 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนในเดือนกันยายน

 

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้ตลาดจะตอบรับดี แต่แผนการขึ้นดอกเบี้ยอีก 1.5%  หากมองระยะยาว ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐและไทยแตกต่างกัน โดยเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวแรงจากเงินเฟ้อ ตลาดแรงงานร้อนแรงทำให้ค่าแรงขึ้น  ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว ปีก่อนโต 5.7% แต่เศรษฐกิจไทยเติบโตเพียง 1.6%

เอฟเฟค‘ดอกเบี้ยเฟด’  กดบาทอ่อน กระทบอย่างไร

“แม้เงินบาทอ่อน จะช่วยภาคส่งออกและท่องเที่ยว แต่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ดอกเบี้ยไทยต่ำกว่าสหรัฐ มีเงินไหลออก แต่เศรษฐกิจไทยได้อานิสงส์การส่งออก  ทำให้ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) รอการฟื้นตัวเศรษฐกิจให้ชัดเจนก่อน แต่แนวโน้มเงินเฟ้อจะกระจายในตะกร้าเงินเฟ้อรวมทั้งค่าแรง ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงินของไทย จึงไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยตามเฟด”

 

ในประเด็นส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐและไทยนั้น ในอดีตช่วงปี 2559-2560 เฟดขึ้นดอกเบี้ยค่อนข้างแรง ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยเคยอยู่ที่ 0.75% ซึ่งเงินบาทอ่อนค่า 36 บาท/ดอลลาร์ ฉะนั้นแนวโน้มเงินบาทมีโอกาสจะเห็นการอ่อนค่าในช่วงที่เหลือของปีนี้

 ขณะที่ปัจจุบันแม้เงินบาท จะเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าเมื่อเทียบสกุลเงินดอลลาร์หรือสกุลเงินในภูมิภาค แต่ช่วงนี้เงินบาทไทยไม่ได้อ่อนค่ากว่าภูมิภาคโดยจะเห็นเงินหยวน หรือเงินวอนอ่อนค่ากว่าเงินบาทไทยมาก ยกเว้นสกุลเงินริงกิตของมาเลเซียที่แข็งค่า

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทยกล่าวว่า จากนี้ไปต้องรอผลว่า มติของเฟด จะทำให้ตลาดเงินผันผวนมากว่าเดิมหรือไม่ โดยตลาดรอดูธนาคารกลางประเทศหลัก รวมถึงธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ว่า จะส่งสัญญาณลดงบดุลช่วงไหน จึงเป็นความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังในไตรมาส 3 ถ้าธนาคารกลางหลายแห่งเริ่มลดสภาพคล่องเหมือนเฟด  ทำให้ไตรมาส3 มีโอกาสที่ขนาดของการลดงบดุลจะเริ่มแตะ 7 หมื่นล้านดอลลาร์หรือมากกว่านั้น

เอฟเฟค‘ดอกเบี้ยเฟด’  กดบาทอ่อน กระทบอย่างไร

ส่วนผลต่อตลาดทุนนั้น เนื่องจากตลาดรับรู้สัญญาณเฟดไปแล้ว หากผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนออกมาดี ก็จะเป็นผลบวกให้ตลาดเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยง แต่ปัจจัยเสี่ยงจากยุโรปจะคว่ำบาตรไม่นำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ประกอบกับ สถานการณ์โควิดในจีนที่ยังทรงๆ และฝั่งในไทยก็ยังไม่ดีนัก ทำให้ตลาดระมัดระวังการลงทุนในเอเซีย ซึ่งระยะสั้นฟันด์โฟล์อาจมีเข้ามาซื้อหุ้นบ้างแต่ไม่มาก

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดมีคาดการณ์ว่า เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ย โดยสะท้อนผ่านราคาบอนด์ยิลด์ 2ปี อยู่ที่เกือบ 1.4% ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐกับไทยยังต่างกัน 0.9% (เฟด 0.75-1% กนง. 0.50%) โดยตลาดมองว่า ธปท.จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้งใน 2 ปีข้างหน้า โดยปกติส่วนต่างดอกเบี้ย 0.1-0.2% ทำให้ตลาดไม่เชื่อว่า ธปท.จะคงดอกเบี้ยนโยบายทั้งปี 2565 คาดว่า ธปท.อาจจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายปีนี้ตั้งแต่เดือนกันยายน

 

ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยยังต้องรอผลอีก 3-6 เดือนข้างหน้าหรือ 1-2 ไตรมาส ส่วนผลกระทบต่อตลาดการเงินขึ้นอยู่กับสภาพคล่องเป็นหลัก หากสภาพคล่องถูกดึงออกมา 70,000 ล้านบาท อาจจะเห็นผลกระทบในตลาดเงินชัดเจนขึ้น

 

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ผลประชุมเฟด เป็นการส่งสัญญาณอย่างระมัดระวังทั้งการปรับขึ้นดอกเบี้ยและปรับลดงบดุล ทำให้นักลงทุนปรับท่าทีขายทำกำไรดอลลาร์ระยะสั้น ส่งผลให้สกุลเงินหลักและสกุลเงินเอเชียรวมทั้งเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่า โดยเงินบาทยังมีโอกาสเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าในหลายเดือนข้างหน้า

เอฟเฟค‘ดอกเบี้ยเฟด’  กดบาทอ่อน กระทบอย่างไร

“ผู้นำเข้าต้องระวังทิศทางค่าเงินบาทที่ยังคงมีโอกาสแกว่งตัวอ่อนค่ากลับไปที่ระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ หรืออ่อนค่าลงเพิ่มเติมได้อีกในช่วง 1-2 ไตรมาสนับจากนี้ แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นในช่วงปลายปี” นางสาวกาญจนากล่าว

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,781 วันที่ 8 - 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2565