ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,899.37 จุด ลดลง 98.60 จุด หรือ -0.30%
ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,123.34 จุด ลดลง 23.53 จุด หรือ -0.57%
และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,144.66 จุด ลดลง 173.03 จุด หรือ -1.40%
ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์และ S&P500 ปรับตัวลง 0.2% ขณะที่ Nasdaq ลดลง 1.5%
ทั้งนี้ ข้อมูลจากดาวโจนส์ มาร์เก็ต ดาต้า ระบุว่า ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกัน
ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2563 และปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 5 ติดต่อกันนานที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2555
และดัชนี S&P500 ปรับตัวลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 5 นานที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2554
เจย์ แฮตฟิลด์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของอินฟราสตรัคเจอร์ แคปิตอล แมเนจเมนต์ในนิวยอร์กระบุว่า ขณะนี้ปัจจัยที่ขับเคลื่อนตลาด 95% ได้แก่อัตราดอกเบี้ยระยะยาว
สำหรับการที่ตลาดปรับตัวลงนั้น เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าตัวเลขจ้างงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด (FED) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ด้านเทรดเดอร์ส่วนใหญ่คาดว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมเดือนพ.ย. แม้ว่านายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ได้ปฏิเสธการคาดการณ์ดังกล่าวก็ตาม
อย่างไรก็ดี กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ (6 พ.ค.) ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 428,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 400,000 ตำแหน่ง
อัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.6% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.5% และตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.3% ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.4%
หุ้น 9 ใน 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 ปรับตัวลง ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้น 2.9% สวนทางตลาดโดยได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากความวิตกด้านอุปทาน
หุ้นกลุ่มเติบโตขนาดใหญ่ปรับตัวลง ยกเว้นบางตัว อาทิ หุ้นแอปเปิล บวก 0.5% ขณะที่หุ้นเวลส์ ฟาร์โก ลดลง 0.5% และนำหุ้นกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ปรับตัวลงด้วย
หุ้นอันเดอร์ อาร์เมอร์ อิงค์ ซึ่งผลิตชุดกีฬา ร่วงลง 23.8% หลังคาดการณ์แนวโน้มผลกำไรปี 2566 ในเชิงลบ ขณะที่หุ้นไนกี้ซึ่งเป็นบริษัทคู่แข่ง ปรับตัวลงด้วย
นักลงทุนจะจับตาการเปิดเผยข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) รายเดือนในวันพุธหน้า เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อในสหรัฐใกล้แตะระดับสูงสุดแล้วหรือไม่