ลงทุนอย่างไรเมื่อคนอื่นคิดว่าจะเกิด Recession

10 พ.ค. 2565 | 01:28 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ค. 2565 | 08:38 น.

วางแผนการลงทุน ท่ามกลางตลาดทุนทั่วโลกผันผวนหนัก ตลาดวิตกกังวลเฟดใช้ยาแรง เร่งขึ้นดอกเบี้ยฉุดเศรษฐกิจ และจีนล็อกดาวน์ในหลายเมือง นักลงทุนจะรับมืออย่างไร ฟังมุมวิเคราะห์ ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย

ตลาดผันผวนหนักตาม Fed และจีน

 

ตลาดทุนทั่วโลกผันผวนหนักในช่วงปลายเดือนเมษายนและมีโอกาสลากยาวต่อในเดือนพฤษภาคม  ที่มักมีความเชื่อว่านักลงทุนจะขายหุ้นทำกำไรในเดือนนี้ ตามวลี Sell in May แต่ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดมีความกังวลจากสองปัจจัยสำคัญ นั่นคือ Fed และจีน หากนักลงทุนเข้าใจพัฒนาการต่อไปของสองปัจจัยนี้ได้ ก็น่าจะสามารถวางแผนการลงทุนต่อได้

 

ปัจจัยแรก ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปีในสหรัฐฯ โดยการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) เมื่อวันที่ 3 – 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นไปตามคาด Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% พร้อมเตรียมปรับลดขนาดงบดุลหรือดูดกระแสเงินกลับในเดือนมิถุนายน และอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงอีกครั้งในเดือนเดียวกันเพื่อหวังลดความร้อนแรงของอัตราเงินเฟ้อให้ได้ในช่วงไตรมาส 2 นี้

 

 

การเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ประกอบกับปัญหาเงินเฟ้อได้ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 10 ปีของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นต่อเนื่อง และทำให้นักลงทุนกังวลต่อต้นทุนทางการเงินและสภาพคล่องที่ลดลง อีกทั้งตลาดพันธบัตรมีภาวะ Inverted Yield Curve ที่อัตราผลตอบแทนระยะสั้นสูงกว่าอัตราผลตอบแทนระยะยาว ในช่วงก่อนหน้าที่เป็นสัญญาณการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession ซึ่งผมมองว่าโอกาสเกิดมีไม่มาก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันเสี่ยงโตช้าลงแต่ไม่ใช่ภาวะถดถอย ส่วนการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed อาจทำให้การบริโภคและการลงทุนชะลอไปบ้าง โดยเฉพาะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ซื้ออาจชะลอการตัดสินใจตามต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และอาจมีผลให้ผู้กู้รายเดิมมีการผิดนัดชำระหนี้จนลามสู่ปัญหาภาคการเงินเช่นในอดีตช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเร่งขึ้นเร็ว แต่รอบนี้การจ้างงานของสหรัฐฯ ยังดี เศรษฐกิจสหรัฐที่คาดว่าจะขยายตัวได้ราว 3% ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตและสูงกว่าศักยภาพของเศรษฐกิจ แต่อาจชะลอตัวในปีหน้า ซึ่งหาก Fed เห็นสัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในอนาคตประกอบกับสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ Fed ก็อาจส่งสัญญาณที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปในช่วงไตรมาส 3 ซึ่งนักลงทุนน่าจะคลายความกังวลได้

 

 

 

ปัจจัยที่สอง คือ จีนเร่งล็อกดาวน์ในหลายเมือง ทั้งเซินเจิ้น เซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง ซึ่งล้วนเป็นศูนย์กลางภาคการผลิต การเงิน และการบริโภคของจีน และเสี่ยงทำให้เศรษฐกิจจีนโตช้าลงในปีนี้ แต่ผมเชื่อว่าจีนน่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศได้แม้อาจต้องใช้การล็อกดาวน์อีกหลายเมืองหรือมีระยะเวลาที่นานขึ้น แต่เชื่อว่าจีนจะออกมาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจทั้งมาตรการทางการเงินและการคลังเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พร้อมผ่อนคลายกฎระเบียบและความเข้มงวดในภาคบริการและด้านไอทีที่ส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนผันผวนในช่วงก่อนหน้า และน่าจะทำให้ตลาดหุ้นจีนฟื้นได้ในช่วงไตรมาส 3 นี้

 

แบ่งหลายไม้ กระจายหลายสินทรัพย์

 

ในช่วงเดือนพฤษภาคมนักลงทุนอาจกังวลปัญหาตลาดทุนที่ผันผวนเช่นนี้ อาจใช้กลยุทธ์ Wait and See หรือรอความชัดเจนของตลาดก่อนเข้าไปลงทุน และพักเงินในตราสารหนี้ระยะสั้น แม้จะได้ผลตอบแทนต่ำแต่รักษาเงินต้นได้ดี เมื่อตลาดทุนปรับตัวถึงจุดหนึ่งที่นักลงทุนคลายความกังวลที่ Fed เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย นักลงทุนจะกลับมามองหาหุ้นหรือกองทุนรวมที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีความผันผวนต่ำ ไม่เน้นการเติบโตแบบหวือหวา หรือในกลุ่ม Tech ขนาดเล็กที่ยังไม่มีผลกำไรและเสี่ยงต่อดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งนักลงทุนยังสามารถลงทุนในหุ้นหรือกองทุนรวมในฝั่งสหรัฐฯ ได้เมื่อมีความชัดเจนนี้ และอาจไม่ต้องรอจนถึง Fed ขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนก็สามารถทำได้

 

แต่น่าจะแบ่งการลงทุนในหลาย ๆ ครั้ง ครั้งละไม่มาก และกระจายไปในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เช่น กองทุนรวมหุ้น ตราสารหนี้ระยะสั้น อสังหาริมทรัพย์ หรือกองรีท และทองคำ อีกทั้งมีการกระจายการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นไปยังหลากหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน และเอเชียแปซิฟิกอื่น โดยอาจเน้นในตลาดพัฒนาแล้วมากกว่าตลาดกำลังพัฒนาที่อาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินและเงินไหลออก หรือจะลงทุนในธีมพลังงานทางเลือก ธีมสิ่งแวดล้อมหรือ ESG หรือ ด้านสุขภาพหรือเฮลท์แคร์ ก็สามารถทำได้ในช่วงนี้เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตลงทุน

 

สรุป ตลาด Panic ไม่ใช่ Recession

 

ผมมองว่าในเดือนพฤษภาคมนี้ ตลาดทุนยังอาจผันผวนได้ต่อเนื่อง แต่ยังไม่ใช่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพียงแต่เป็น Market Correction หรือการปรับฐานครั้งใหญ่ตามความตกใจ หรือ Panic ของนักลงทุน ซึ่งน่าจะเห็นโอกาสการฟื้นตัวของตลาดได้ในไม่ช้าและน่าจะเป็นโอกาสสะสมกองทุนรวมที่มีปัจจัยพื้นฐานดี รวมทั้งเป็นโอกาสของนักลงทุนที่ยังไม่ได้ลงทุนในกองทุนรวม และควรทำ Asset Allocation หรือการกระจายการลงทุนไปยังหลากหลายสินทรัพย์ตามความเสี่ยงที่นักลงทุนยอมรับได้ ซึ่งมีหลากหลายตามที่กล่าวไปแล้วในเบื้องต้น ซึ่งน่าจะสามารถรับมือในภาวะผันผวนได้มากกว่าการลงทุนในกองทุนใดกองทุนหนึ่งเพียงอย่างเดียว หรือสินทรัพย์ประเภทเดียว

 

รวมทั้งมองโอกาสการฟื้นตัวของจีนและตลาดเกิดใหม่ในช่วงไตรมาส 3 ตามการผ่อนคลายการเดินทาง และมาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจของจีน อย่างไรก็ดี ภาวะเงินเฟ้อที่แม้จะควบคุมได้แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูงอาจมีผลให้เศรษฐกิจโลกเติบโตช้าลงกว่าที่คาดไว้ในช่วงต้นปี แต่ก็ยังไม่นำไปสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในปีหน้าหากธนาคารกลางสามารถสื่อสารในการควบคุมเงินเฟ้อและสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยไม่ส่งผลให้เศรษฐกิจชะงักงัน

 

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

 

ที่มา  :  SET setinvestnow.com