บทความนี้ มาจากหัวข้อเรื่อง "Asset Allocation ง่ายนิดเดียว" โดยผู้เขียน : นายวีระชัย แสงวัชร ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM สมาคมนักวางแผนการเงินไทย ซึ่งนำเสนอไอเดีย การจัดสรรสินทรัพย์การลงทุน หรือ Asset Allocation แบบง่าย และได้ผลตอบแทนที่ดีให้กับที่นักลงทุนไว้เป็นทางเลือก
“Asset Allocation” หรือ การจัดสรรสินทรัพย์การลงทุน คือ การที่นักลงทุนวางแผนกระจายเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์ทางการเงิน ในหลายประเภท แต่ละประเภทจะต้องมีทิศทางการขึ้นลงของราคา หรือผลตอบแทนที่ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดระยะเวลาการลงทุน เช่น ช่วงเศรษฐกิจซบเซา สินทรัพย์ประเภทหนึ่งราคาปรับตัวลดลง แต่อีกประเภทหนึ่งจะต้องปรับตัวขึ้น เป็นต้น
การจัดสรรสินทรัพย์การลงทุน มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่แบบพื้นฐานที่มีสินทรัพย์ แค่ 2 ประเภท เช่น กลุ่มหุ้นกับกลุ่มตราสารหนี้ ไปจนถึงแบบที่มีสินทรัพย์ หลายๆ ประเภท ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มหุ้น ตราสารหนี้ ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ น้ำมัน เป็นต้น
ข้อดี ของการจัดสรรสินทรัพย์การลงทุน คือ ช่วยลดและจำกัดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน ทั้งในเรื่องของความผันผวน และการไม่ลงทุนแบบกระจุกตัว และทำให้การลงทุนในระยะยาวมีโอกาสจะได้รับผลตอบแทนที่ดี และมีประสิทธิภาพกว่าการที่ไม่ได้จัดสินทรัพย์ในการลงทุน ซึ่งจะต้องทำร่วมกับ การปรับสมดุลของพอร์ต (Rebalance Port) เป็นประจำอีกด้วย
สิ่งที่นักลงทุน มักจะมีคำถามคล้ายๆ กัน เกี่ยวกับการจัดสรรสินทรัพย์ในการลงทุน คือ เราจะเลือกสินทรัพย์ประเภทไหนเข้ามารวมอยู่ในพอร์ตบ้าง เราควรจะจัดสัดส่วนการลงทุนของแต่ละสินทรัพย์อย่างไร เพื่อให้เหมาะกับความเสี่ยงที่นักลงทุนรับได้ และได้ผลตอบแทนตามที่คาดหวัง และควรจะต้องปรับสมดุลของพอร์ตการลงทุนเมื่อไหร่ อย่างไร ?
อ่านมาถึงตรงนี้ จะเห็นว่า เรื่องการจัดสรรสินทรัพย์การลงทุนนั้น มีรายละเอียดค่อนข้างมาก ไม่ใช่เพียงอยากจะลงทุนในสินทรัพย์อะไรที่เราชอบ ก็ลงทุนได้เลย โดยการจัดสรรสินทรัพย์การลงทุนที่มีประสิทธิภาพนั้น ต้องดูทั้งเรื่องของความเสี่ยงที่เรารับได้ และต้องสอดคล้องกับผลตอบแทนคาดหวังที่นักลงทุนต้องการ สินทรัพย์ที่ลงทุนในแต่ละประเภทต้องมี ผลตอบแทนที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันเหมือนกัน ต้องติดตามเพื่อทำการปรับสมดุลของพอร์ต และติดตามตัวสินทรัพย์ที่เราลงทุนอยู่ ว่าเหมาะสมกับสถานการณ์หรือไม่
การจัดสินทรัพย์การลงทุน นั้นดูเหมือนเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน หลายขั้นตอน แต่ในปัจจุบัน สำหรับนักลงทุนที่ต้องการจัดสรรสินทรัพย์การลงทุน หรือ ทำ Asset Allocation แต่ไม่ค่อยมีเวลาที่จะมาลงรายละเอียดว่าจะลงทุนสินทรัพย์ตัวไหนดี ด้วยสัดส่วนเท่าไหร่ ไม่ต้องมาทำการปรับสมดุลของสัดส่วนการลงทุนในพอร์ต (Rebalance) เอง หรือยังมีเงินลงทุนตั้งต้น ไม่มากนัก ผมมีแนวทางมานำเสนอเพื่อเป็นทางเลือกแบบง่ายๆ แต่มีประสิทธิภาพ ซึ่งทางเลือกที่ว่านั้นก็คือ การลงทุนใน “กองทุนรวมผสม” นั่นเอง
กองทุนรวมผสม (Allocation Fund) คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนได้ทั้งใน ตราสารทุน ตราสารหนี้ หรือ ตราสารอื่นๆ สัดส่วนการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ ขึ้นอยู่กับนโยบายของกองทุนนั้นๆ และในกองทุนรวมผสมก็จะมีการปรับสมดุลของการลงทุนให้นักลงทุนด้วย เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของกองทุน ทำให้นักลงทุนไม่ต้องมาทำการปรับสมดุล หรือ Rebalance พอร์ตเอง และ ไม่ต้องมาคิดว่าช่วงเวลาไหน ควรลงทุนอะไร เพื่อให้การจัดสินทรัพย์เหมาะสมกับสถานการณ์ของเศรษฐกิจ และ ยังเหมาะกับ นักลงทุนที่มีเงินลงทุนตั้งต้นไม่สูงมาก แต่ต้องการกระจายสินทรัพย์การลงทุนให้หลากหลาย
กองทุนรวมผสมหลักๆ จะมีอยู่ 2 แบบ ตามที่ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดประเภทไว้ คือ
กองทุนรวมผสมแบบสมดุล (Balanced Fund) คือ กองทุนรวมที่สามารถลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินประเภทต่างๆ ได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเงินฝาก ตราสารหนี้ ตราสารทุน หรือ ตราสารอื่นๆ แต่จะต้องมีสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนในขณะใดขณะหนึ่ง ไม่น้อยกว่า 35% และไม่เกินกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมนั้น
กองทุนรวมผสมแบบยืดหยุ่น (Flexible Portfolio Fund) คือ กองทุนรวมที่สามารถลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินประเภทต่างๆ ได้ทุกประเภทเช่นเดียวกับกองทุนรวมผสม แต่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุน ดังนั้น การจัดสรรเงินลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ จึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจลงทุนของผู้จัดการกองทุนตามสภาวะตลาดในขณะนั้น
การลงทุนในกองทุนรวมผสม จะทำให้นักลงทุนที่ต้องการจัดสินทรัพย์การลงทุนได้ประโยชน์ ดังนี้
สำหรับการเลือกกองทุนผสม นั้น ทาง Morningstar ได้จัดกลุ่ม ของกองทุนผสม ออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
1. Aggressive Allocation ลงทุนในตราสารทุน อย่างน้อย 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม
2.Moderate Allocation ลงทุนในตราสารทุนมากกว่า 35% แต่ไม่เกิน 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม
3.Conservative Allocation ลงทุนในตราสารทุน ไม่เกิน 35% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม
4.Global Allocation ลงทุนในตราสารทุนไม่เกิน 65% และลงทุนในต่างประเทศ อย่างน้อย 75% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม
นักลงทุนสามารถค้นหาข้อมูลของกองทุนผสมที่น่าสนใจ พร้อมผลดำเนินในอดีตได้ที่ www.morningstarthailand.com หมวดกองทุน ท่านสามารถเลือกดูได้ตามกลุ่มของกองทุนผสมที่ท่านสนใจลงทุนได้เลย ขอกระซิบบอกว่า ผลดำเนินงานของกองทุนผสม นั้นอยู่ในเกณฑ์ที่น่าสนใจ ระดับนึงเลยทีเดียว
สุดท้าย การลงทุนมีความเสี่ยง ผลตอบแทนในอดีต ไม่ได้การันตีถึงผลตอบแทนในอนาคต ขอให้ทุกท่าน ลงทุนอย่างมีสติ และ บรรลุเป้าหมายการลงทุน อย่างที่ตั้งใจทุกท่านครับ