หนี้ครัวเรือนไทยที่ทวีความรุนแรงขึ้นหลังวิกฤตโควิด-19 ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio: DSR) ของครัวเรือนไทยโดยเฉลี่ยอยู่ในจุดใกล้เส้นยาแดงที่ระดับ 30% มาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 ดังนั้นหากพ้นระดับ 30% ไปการก่อหนี้ของครัวเรือนจะเปลี่ยนบทบาทจากการกระตุ้นเป็นการฉุดรั้งการบริโภคของครัวเรือน รัฐบาลจึงประเทศให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ครัเรือน
นางทัศนีย์ เปาอินทร์ อธิบดีกรมบังคับคดีเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภารกิจของกรมบังคับคดีจะโฟกัสไปที่งานไกล่เกลี่ยคู่ความระหว่างเจ้าหนี้ กับ ลูกหนี้ เพื่อยุติคดีความทั้งก่อนและหลังศาลมีคำพิพากษา นอกเหนือจากอีกภารกิจคือ การทำหน้าที่ยึด อายัดทรัพย์และขายทอดตลาด
สำหรับปีงบประมาณ 2565 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564-มีนาคม 2565 กรมบังคับคดีสามารถไกล่เกลี่ยได้สำเร็จ 11,864 เรื่อง มีทุนทรัพย์กว่า 4,405 ล้านบาท จากเรื่องที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 12,263 เรื่อง คิดเป็นผลสำเร็จ 96.75%
“ปีงบประมาณนี้ กรมบังคับคดียังคงพยายามกระจายข่าวสารและประสานเจ้าหน้าที่/ติดตามเจ้าหนี้และลูกหนี้ให้เข้ามาร่วมโครงการมากขึ้น โดยเข้าใจว่าลูกหนี้บางส่วนไม่อยู่ในพื้นที่หรือออกไปทำงานอกพื้นที่ จึงไม่สามารถเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ย โดยต้องพยายามไกล่เกลี่ยให้ได้มากที่สุด”นางทัศนีย์กล่าว
ส่วนช่วงที่เหลือของปี กรมบังคับคดียังคงเน้นการเดินหน้าจัดมหกรรมไกล่เกลี่ย ภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงที่เหลือ และสามารถเพิ่มเติมได้อีกจนถึงสิ้นปีงบประมาณ โดยเบื้องต้นกำหนดจัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยไปแล้ว9 ครั้ง ต่อไปคือครั้งที่ 10 วันที่ 19 พ.ค.จังหวัดระยอง ครั้งที่ 11 วันที่ 27 พ.ค. จังหวัดพิษณุโลก ครั้งที่ 12 วันที่ 30 พ.ค.จังหวัดสุโขทัย ครั้งที่ 13 วันที่ 10 มิ.ย.จังหวัด อุดรธานี ครั้งที่ 14 วันที่ 17 มิ.ย. จังหวัดราชบุรีและครั้งที่ 15 วันที่ 14 มิ.ย. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สำหรับผลงานไกล่เกลี่ยของกรมบังคับคดีตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ปีงบประมาณ 2562 จนถึงปีงบประมาณ 256 5พบว่า ปริมาณลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยรวม 85,845 เรื่อง ทุนทรัพย์กว่า 42,783 ล้านบาท โดยสามารถไกล่เกลี่ยได้สำเร็จ 79,432 เรื่องทุนทรัพย์ 33,412 ล้านบาท คิดเป็นอัตราสำเร็จที่ 92.53%
ผลสำเร็จจากการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดี ทั้งช่วงก่อนเกิดและช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 โดยช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ในปี 2562 มีลูกหนี้ขอไกล่เกลี่ย 33,473 เรื่อง สามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จ 30,466 เรื่อง ทุนทรัพย์กว่า 10,171 ล้านบาท คิดเป็นอัตราสำเร็จ 91.02%
ส่วนปีงบประมาณ 2563 ไกล่เกลี่ยได้สำเร็จ 22,009 เรื่อง ทุนทรัพย์ 9,434 ล้านบาทจากเรื่องที่เข้ามากว่า 23,776 เรื่อง ปีงบประมาณ 2564 มีเรื่องเข้าสู่การไกล่เกลี่ย 16,333 เรื่อง สามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จ 15,093 เรื่อง ทุนทรัพย์กว่า 9,398 ล้านบาท และครึ่งปีงบประมาณ 2565 มีเรื่องเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 12,263 เรื่อง สามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จ 11,864 เรื่อง ทุนทรัพย์กว่า 4,405 ล้านบาท อัตราสำเร็จที่ 96.75%
“กรมบังคับคดีอยากเห็นลูกหนี้และเจ้าหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยจำนวนมาก เพราะเป็นการช่วยลดภาระลูกหนี้ ซึ่งหนี้ที่ไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้วมีเพียง 10% โดยลูกหนี้ส่วนใหญ่สามารถปฎิบัติได้ตามเงื่อนไขปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้สามารถลดการยึด อายัดทรัพย์และงดการขายทอดตลาด”
โดยเฉพาะปีงบประมาณ 65 ผลการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน 6 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 10,900 รายมีลูกหนี้ขอไกล่เกลี่ย 8,501 ราย ดำเนินการไกล่เกลี่ย 7,996 รายสามรถไกล่เกลี่ยสำเร็จ 7,929 ราย รวมทุนทรัพย์ 2,181 ล้านบาท คิดเป็น 99.16%
แยกเป็นลูกหนี้ กรณีก่อนฟ้อง 4,437 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 4,430 ราย ลดมูลหนี้ได้กว่า 459 ล้านบาท คิดเป็น 99.81% สามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีได้กว่า 574 ล้านบาท สำหรับลูกหนี้กรณีหลังศาลมีคำพิพากษาเข้ามาไกล่เกลี่ย 3,678 รายไกล่เกลี่ยสำเร็จ 3,499 รายทุนทรัพย์ 1,721 ล้านบาท
ส่วนผลดำเนินงานสำนวนคดีที่เข้าสู่กระบวนการบังคับคดีช่วง 6 เดือนแรกในปีงบประมาณ 2565 อธิบดีกรมบังคับคดีกล่าวว่า เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาดำเนินการบังคับคดีแพ่ง 127,869 เรื่อง และดำเนินการสำเร็จ 123,302 เรื่อง โดยประมาณการจะมีเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาดำเนินการบังคับคดีทางแพ่งกับกรมบังคับคดี 255,738 และดำเนินการเสร็จ 246,604 เรื่อง
“ประมาณการทั้งปีงบประมาณนี้ จะสามารถผลักดันทรัพย์สินออกจากระบบการบังคับคดีได้ 239,182 ล้านบาท ซึ่งข้อมูลราคาประเมินทรัพย์ค้างดำเนินการ (ณ วันที่ 2 พ.ค.2565) รวม 457,120.46 ล้านบาท แบ่งเป็นคดีแพ่ง 442,264.89 ล้านบาท และคดีล้มละลาย 14,855.56 ล้านบาท” นางทัศนีย์กล่าว
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,783 วันที่ 15 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2565