อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้หลายประเทศปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วและอีกหลายประเทศกำลังปรับขึ้นในเวลาอันใกล้นี้ ส่วนไทยแม้เผชิญปัญหาเงินเฟ้อที่เร่งแรงและรวดเร็ว แต่ยังคงอัตราดอกเบี้ยต่ำลากยาวต่อไป เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัว
ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย อายุ 10 ปีล่าสุด (24 พ.ค.64) อยู่ที่ระดับ 3.05% และผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นเฉลี่ย 10 ปีที่ 6.0%
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ธนาคารเตรียมออกผลิตภัณฑ์เงินฝาก เพื่อเกษียณ อายุ 10 ปี เพื่อสร้างวินัยการออมรองรับสังคมผู้สูงวัย โดยให้อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได เฉลี่ย 10 ปี อยู่ที่ประมาณ 4.1% - 4.2% (หักอัตราภาษีแล้วจะอยู่ที่ 3.7%) โดยดอกเบี้ยเริ่มต้น 3 ปีแรก อยู่ที่ 1.5% ต่อมาในปีที่ 4-5 อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.5% และค่อยๆ ขยับไปจนถึงปีที่ 10 โดยรับฝากเงินเริ่มต้นที่ 1 แสนบาท สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท
“ผลิตภัณฑ์เงินฝากดังกล่าวไม่จำกัดอายุ แต่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือ ผู้เกษียณอายุ ซึ่งผู้ฝากสามารถถอนเงินฝากระหว่างปีได้ โดยถอนเงินในปีใด ก็จะได้ดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ในปีนั้นๆ เช่น ไปถอนเงินฝาก ช่วงปีที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ระดับ 3% ก็จะได้ดอกเบี้ย 3% ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ธนาคารออมสินต้องการช่วงเหลือสังคม กระตุ้นให้มีการออมเงิน รองรับสังคมสูงวัย โดยในปัจจุบันเรามีเงินฝากทั้งหมด 2.4 ล้านล้านบาท” นายวิทัยกล่าว
ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 ออมสินมียอดเงินฝากรวม 2,513,919 ล้านบาท และยอดเงินให้สินเชื่อรวม 2,185,558 ล้านบาท
ด้านนายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)กล่าวว่า ธอส.เตรียมปรับแผนระดมเงินเพิ่มในช่วงที่เหลือของปี 65 ให้เพิ่มขึ้นอีก 4-6 หมื่นล้านบาท เพื่อเตรียมเงินรองรับการปล่อยสินเชื่อใหม่ โดยไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 ธอส. มีเงินฝากรวมกว่า 1.31 ล้านล้านบาท
“ธอส.จะมีการปรับแผนระดมเงินเพิ่ม 4-6 หมื่นล้านบาท ด้วยการเพิ่มเงินฝาก ออกพันธบัตร และสลาก โดยจะมีออกสลากออมทรัพย์เพิ่มขึ้นอีก ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้ออกสลากออมทรัพย์ ชุดขาลเพิ่มพูน ไปแล้ว กรอบวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท” นายฉัตรชัย กล่าว
นายฉัตรชัยกล่าวอีกว่า จากอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มขาขึ้น และมาตรการของรัฐในการลดค่าจดทะเบียนการโอนและจดจำนอง รวมถึงมาตรการ ผ่อนคลายมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้ที่ผ่านมาสินเชื่อบ้านยังมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 65 ธอส. ปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 8.2 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้เชื่อว่า เมื่อมีการเปิดประเทศ และนโยบายในการตรึงอัตราดอกเบี้ยถึงสิ้นปี 65 ก็จะยิ่งทำให้ยอดปล่อยสินเชื่อเพิ่มสูงขึ้นอีก โดยคาดว่าทั้งปี 65 จะปล่อยสินเชื่อได้มากกว่า 3 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายทั้งปีที่ 2.26 แสนล้านบาท และสูงกว่าช่วงปกติก่อนเกิดโควิดที่มียอดปล่อยสินเชื่ออยู่ประมาณ 2.4 แสนล้านบาท แต่ทั้งนี้ยังติดตามสถานการณ์ในช่วงปลายปี รวมทั้งนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ และ กนง. อีกครั้ง
สำหรับลูกค้าสินเชื่อของธอส. พบว่า 70% - 80% ของพอร์ต เป็นกลุ่มลูกค้าสินเชื่อระดับราคาบ้านประมาณ 1-2 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มระดับกลาง คือ บ้านราคา 3 ล้านบาทขึ้นไป พบว่ายอดปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น 15% - 20% และยังพบอีกว่า ลูกค้าของ ธอส. ในปัจจุบัน เป็นลูกค้าที่ต้องการซื้อที่อยู่เพื่ออาศัยอย่างแท้จริง
“สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องทำงานที่บ้านมากขึ้น ไม่ใช่ซื้อเพื่อปล่อยเช่า หรือ เพื่อเก็งกำไรเหมือนในอดีต ดังนั้นในปีนี้ อาจเห็น ธอส. ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้มากกว่าธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ เนื่องจากปัจจุบันธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อรวมกันได้มากกว่า ธอส. เพียง 4% จากที่เคยสูงกว่า ธอส. ถึง 10%”นายฉัตรชัยกล่าว
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,786 วันที่ 26 - 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2565