ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทระหว่างวันที่ 30 พ.ค.-3มิ.ย. 2565 ที่ระดับ 33.70-34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนเม.ย.ของธปท. ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน การจ้างงานภาคเอกชนจาก ADP ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค.
และดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิตเดือนพ.ค. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน ข้อมูล JOLTS เดือนเม.ย. และรายงาน Beige Book ของเฟด นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนพ.ค. ของจีน ยุโรป และอังกฤษด้วยเช่นกัน
ในวันศุกร์ (27 พ.ค.) เงินบาทปิดตลาดที่ 34.16 (หลังจากแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 สัปดาห์ที่ 34.09 ในช่วงระหว่างสัปดาห์) เทียบกับระดับ 34.26 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (20 พ.ค.)
ขณะที่ระหว่างวันที่ 23-27 พ.ค. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 6,870.3 ล้านบาท ขณะที่มีสถานะเป็น NET INFLOW เข้าตลาดพันธบัตร 10,643.2 ล้านบาท (โดยแม้จะมีการเข้าซื้อสุทธิพันธบัตร 20,589.2 ล้านบาท แต่ก็มีตราสารหนี้หมดอายุถึง 9,946 ล้านบาท)
บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด(บล.) มองว่า ดัชนีหุ้นไทย (SET)มีแนวรับที่ 1,625 และ 1,600 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,650 และ 1,665 จุด ตามลำดับ
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจากภาครัฐ สถานการณ์โควิด-19 ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน และอัตราการว่างงานเดือนพ.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI เดือนพ.ค. ของจีน รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน
ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ (27 พ.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,638.75 จุด เพิ่มขึ้น 0.97% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 63,544.72 ล้านบาท ลดลง 11.74% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 2.28% มาปิดที่ 639.94 จุด