อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอ่อนค่าทดสอบแนว 34.40 ก่อนจะกลับมาปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 34.32 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 34.34 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงแรกตามสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ท่ามกลางแรงหนุนของเงินดอลลาร์ฯ จากข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาดี และสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเจ้าหน้าที่เฟดเพื่อสกัดเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดีกรอบการอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มจำกัดลง
และฟื้นตัวกลับมาได้เล็กน้อยตามการปรับโพสิชันก่อนเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวของตลาดการเงินในประเทศ ประกอบกับนักลงทุนรอติดตามท่าทีต่อเงินเฟ้อและการดำเนินนโยบายการเงินของกนง. แม้จะคาดว่ากนง. น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ในการประชุมในวันที่ 8 มิ.ย. นี้ก็ตาม
สำหรับทิศทางฟันด์โฟลว์ในวันนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 1,936.25 ล้านบาท ขณะที่มี NET OUTFLOW ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 3,282 ล้านบาท (โดยแม้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตร 1,212 ล้านบาท แต่ก็มีตราสารหนี้ที่หมดอายุถึง 4,494 ล้านบาท)
ส่วนค่าเฉลี่ย Indicative forward points ของธุรกรรมระยะ 3 เดือนสำหรับผู้ประกอบการที่มีรายได้ 50-200 ล้านบาทต่อปี รายงานข้อมูล ณ 10.00 น. วันที่ 2 มิถุนายน 2565 โดยธปท. อยู่ที่ -13.01 สำหรับผู้ส่งออก (ขายเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า) และที่ -9.84 สำหรับผู้นำเข้า (ซื้อเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า)
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์หน้าระหว่างวันที่ 6-10มิ.ย.2565 คาดไว้ที่ 34.00-34.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมกนง. อัตราเงินเฟ้อของไทย เดือนพ.ค. ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ตลอดจนผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางออสเตรเลีย
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อ (CPI) เดือนพ.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย. (เบื้องต้น) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามสถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย ตัวเลขการส่งออกและอัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค. ของจีน และดัชนี PMI ภาคบริการเดือนพ.ค. ของจีน และอังกฤษด้วยเช่นกัน