ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 17.45 น. วันที่ 14 มิ.ย. 2565 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ได้เดินทางมายังกระทรวงการคลัง เพื่อร่วมประชุมหารือมาตรการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชนรอบใหม่ โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)หรือสภาพัฒน์
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์การ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงการพลังงาน นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้าร่วมประชุม โดยที่ประชุม ได้ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที
โดยนายสุพัฒนพงษ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมเพียงสั้นๆ ว่า ขณะนี้ได้ข้อสรุปถึงมาตรการที่จะออกมาช่วยเหลือเพิ่มเติมแล้ว โดยให้แต่ละหน่วยงานไปทำสรุปอีกครั้ง เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาอนุมัติในวันอังคารที่ 21 มิ.ย.นี้ เพื่อให้ทันการประกาศใช้ในเดือน ก.ค.นี้
ขณะที่แหล่งที่จะใช้ในการดำเนินมาตรการ นั้น นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวเพียงว่า ได้ให้กระทรวงการคลังไปสรุปอีกครั้ง แต่ขอยืนยันว่ามีแหล่งเงินที่จะนำมาใช้แน่นอน
สำหรับมาตรการที่จะสิ้นสุด 30 มิ.ย.นี้ ได้แก่
1.เพิ่มเงินให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อซื้อก๊าซหุงต้ม 100 บาทต่อ 3 เดือน จำนวน 3.6 ล้านคน
2.ให้ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค้าหาบเร่ แผงลอย ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
3.ช่วยค่าน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ 250 บาทต่อเดือน ในกลุ่มมอเตอร์ไซต์รับจ้าง
4. ตรึงราคาขายก๊าซเอ็นจีวี 15.59 บาทต่อกิโลกรัม
5.แท็กซีมิเตอร์ โครงการลมหายใจเดียวกัน ซื้อก๊าซแอลพีจี 13.62 บาทต่อกิโลกรัม
6.ลดค่าไฟ (เอฟที)22 สตางต์(สต.)ต่อหน่วย ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ช่วงเดือนพ.ค.-ส.ค.65
7.ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ลิตร 35 บาท และช่วยออกครึ่งหนึ่งของที่เกิน 30 บาท
8.ใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ดูแลราคาก๊าซหุงต้มไม่ให้ปรับขึ้นสูงเกินไป
9.ลดเงินสบทบนายจ้างลูกจ้าง ม.33 จาก 5% เหลือ 1%
10.ลดเงินสบทบ ม.39 จาก 9% เหลือ 1.9% และม.40 เหลือ 42-180 บาทต่อเดือน