ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี2565 สร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง เกิดกระแสเรียกร้องของประชาชน เจ้าของที่ดิน ตลอดจนสมาคม อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจโรงแรม หอการค้าจังหวัดต่างๆ รวมพลัง ยื่นหนังสือถึงกระทรวงการคลังเพื่อขอลด และเลื่อนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2562 ออกไปโดยเฉพาะ ผลกระทบจากการเรียกเก็บ ปี 2565ในอัตราเต็ม 100% ไม่มีลดหย่อน
ล่าสุดนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ศึกษาวิเคราะห์การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
รวมทั้งหารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทยถึงแนวทางดังกล่าว เนื่องจากภาษีที่ดินมีผลบังคับใช้แล้วและที่ผ่านมาได้ผ่อนปรนลดหย่อนการชำระภาษีที่ดินลง90%เป็นเวลาสองปีทำให้ท้องถิ่นสูญรายได้ไปกว่า3หมื่นล้านบาท
แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า นโยบายดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดี แม้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)จะสูญเสียรายได้ใน แต่เมื่อเทียบกับความเดือดร้อนของประชาชนแล้ว ยอมรับว่ามีมากกว่า จากการระบาดโควิด
ขณะเดียวกัน กระทรวงหมาดไทยได้รับการรายงานจาก ท้องถิ่นว่าได้ขยายเวลาจัดเก็บภาษีที่ดินออกไป ในหลายพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านและเอกชน จากเดิมที่ต้องเรียกชำระภายในเดือนเมษายน ของทุกปีเช่นเทศบาลตำบลหมูสี จังหวัดนครราชสีมา ขยายการชำระภาษีที่ดิน ถึงวันที่31 พฤษภาคม ส่วนกรุงเทพมหานครขยายเวลถึงวันที่31กรกฎาคม เป็นต้น
แม้มองว่า แนวทางการลดจัดเก็บภาษีที่ดินในปีงบประมาณ 2565 คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเริ่มจัดเก็บไปแล้วตั้งแต่เดือน เมษายน 2565 ที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้หากกระทรวงการคลังต้องการลดหย่อนท่องถิ่นสามารถคืนเงินย้อนหลังได้
แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร(กทม.)เปิดเผยว่า นอกจากกทม.จะขยายเวลาการชำระภาษีที่ดินออกไปถึงเดือนกรกฎาคมแล้วยังมีความหวังว่า กระทรวงการคลังจะช่วยลดภาระภาษีให้กับประชาชน
แหล่งข่าวจากสำนักงานเขตจตุจักร สะท้อนว่ามีประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการชำระภาษีที่ดินเต็มจำนวน100% โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมซึ่งส่วนใหญ่เป็นบ้านหลังที่สอง และที่ดินว่างเปล่าจำนวนหนึ่ง
ด้านแหล่งข่าวจากเทศบาลตำบลหมูสีจังหวัดนครราชสีมา ระบุว่า ได้ขยายเวลาการชำระภาษีที่ดินออกไปถึงเมื่อวันที่31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งในพื้นที่มีที่ดินกว่า1หมื่นแปลง ที่ส่วนใหญ่ผุ้ครอบครองมาจากต่างถิ่น อย่างไรก็ตามเทศบาลเห็นใจเจ้าของที่ดินเพราะปีนี้ต้องมีภาระภาษีที่ดินในอัตราเต็ม100%
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง อธิบายว่า อปท.สามารถใช้อำนาจขยายเวลาการจัดเก็บออกไปได้ เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่นของการเสียภาษีในแต่ละพื้นที่ เช่น กรุงเทพมหานครเลื่อนเก็บภาษีที่ดินจากเดือน เมษายนไปเป็นเดือนกรกฎาคม 2565 เป็นต้น
ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ลดอัตราจัดเก็บภาษีที่ดิน 90%เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด ทำให้รายได้ท้องถิ่นหายไปปีละเกินกว่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปได้ทั้งหมดซึ่งในช่วงปีแรก 62/63 ก็ชดเชยไปเพียงกว่าหมื่นล้านบาท
ส่วนปีภาษี 63/64 ไม่ได้ช่วยอุดหนุนเลยเพราะไม่มีงบประมาณ ดังนั้นหากจะเลื่อนหรือลดอีก ก็จะกลายเป็นปัญหาที่ต้องหาแหล่งงบประมาณมาชดเชยอย่างไรก็ตาม ใน พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ภาษีที่ดิน ปัจจุบันได้มีมาตรการบรรเทาภาระภาษีอยู่แล้ว เช่น ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาและใช้ประกอบเกษตรกรรมได้รับยกเว้นภาษี การผ่อนปรนภาระภาษีให้แก่ผู้เสียภาษี
กรณีมีภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สูงกว่าค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ที่เคยชำระในปี 2562 โดยจะบรรเทาภาระให้เสียภาษีเท่ากับค่าภาษีปี 62 บวกกับ 75% ของส่วนต่างค่าภาษี ตลอดจนยังเปิดให้ผ่อนชำระภาษีได้อีก 3 เดือน เป็นต้น