บทเรียนเศรษฐกิจลาว สะท้อนภาพเศรษฐกิจไทย

18 มิ.ย. 2565 | 06:46 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มิ.ย. 2565 | 08:56 น.

ศึกษาตัวเลขเศรษฐกิจสปป.ลาว ที่กำลังเผชิญกับเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นในรอบ 15 ปี ค่าเงินกีบที่อ่อนค่าต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ก.ย.ปี 64 แถมทุนสำรองเหลือรองรับการนำเข้าเพียง 2.9 เดือน ส่งผลขาดแคลนน้ำมัน หันมาดูเศรษฐกิจไทยที่เคยเผชิญวิกฤตมาแล้ว ฐานะทุนสำรองยังแกร่ง

หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลประเทศต่างๆ จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินมหาศาล เพื่อรับมือกับโควิด-19 ทั้งการเยียวยาประชาชนและดูแลเศรษฐกิจ ประเทศที่มีรายได้จำกัด จำเป็นต้องกู้ยืมเงินทั้งในและต่างประเทศ สะท้อนจากระดับหนี้สาธารณะของประเทศต่างๆขยับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)

 

เมื่อมาเผชิญหน้ากับราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้หลายประเทศเผชิญหน้ากับวิกฤติเศรษฐกิจ เหมือนที่กำลังเกิดขึ้นใน สปป.ลาว ประเทศเพื่อนบ้านของไทย

 

ซึ่งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสปป.ลาว กำลังเป็นที่จับตามอง หลังประสบภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง ท่ามกลางสกุลเงินกีบที่อ่อนค่าลงอย่างหนัก และเกิดการขาดแคลนน้ำมันขึ้นทั่วประเทศ

ธนาคารแห่งสปป.ลาว ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมของสปป.ลาว พุ่งแตะระดับ 12.8% สูงสุดในรอบ 15 ปีและติดอันดับประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก

 

ขณะที่เงินกีบอ่อนค่าลงอย่างมาก โดยตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2564 เงินกีบเคยอยู่ที่ประมาณ 9,400 กีบต่อ 1 ดอลลาร์ แต่ปัจจุบัน ณ 12 มิถุนายน 2565 เงินกีบอ่อนค่าลงไปที่ 14,400 กีบต่อ 1 ดอลลาร์หรืออ่อนค่าลงกว่า 50%

 

หากเทียบกับเงินบาท ณ วันที่ 9 มิถุนายน 2565 อยู่ที่ 415 กีบ ต่อ 1 บาท หลังจากที่เคยอ่อนค่าหนักสุดเกือบถึง 500 กีบต่อ 1 บาทในเดือนพฤษภาคม 2565  อ่อนค่าลงเกือบ 50% จากเดือนเมษายนที่เงินกีบอยู่ที่ 350 กีบต่อ 1 บาท

ปัจจัยที่ทำให้สกุลเงินกีบอ่อนค่า หลักๆ มาจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ล่าสุดเดือนพฤษภาคม 2565 พุ่งแตะ 8.6% สูงสุดในรอบเกือบ 41 ปี

 

ขณะเดียวกัน สปป.ลาวยังมีหนี้สาธารณะถึง 13,347 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือกว่า 71% ของจีดีพี โดยเป็นต่างประเทศกว่า 12,435 ล้านดอลลาร์และหนี้ในประเทศอีกกว่า 912 ล้านดอลลาร์

 

เมื่อดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นประกอบกับเงินกีบอ่อนค่าลง ทำให้ สปป.ลาว มีภาระหนี้สูงขึ้น ขณะที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศเพียง 1,262 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำจนน่ากังวล

 

เนื่องจากสามารถรองรับการนำเข้าสินค้าได้เพียง 2.9 เดือนเท่านั้น ต่ำกว่าเกณฑ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ที่กำหนดให้ประเทศรายได้ต่ำ ควรมีอัตราทุนสำรองระหว่างประเทศครอบคลุมการนำเข้าได้ 4-6 เดือน และยังมีหนี้ที่กำหนดชำระหนี้ราว 1,300 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าทุนสำรองระหว่างประเทศทั้งหมด

 

เงินสำรองทางการระหว่างประเทศ ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก

 

สำหรับประเทศไทยเอง ก็กำลังเผชิญหน้ากับปัจจัยทางเศรษฐกิจไม่ต่างจาก สปป.ลาวนัก เพราะการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ส่งผลให้เม็ดเงินต่างประเทศไหลกลับ ค่าเงินบาทจึงอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง

 

ล่าสุด ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2565 อยู่ที่ระดับ 34.67 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 3.77% จากสิ้นปี 2564 อยู่ที่ระดับ 33.41 บาทต่อดอลลาร์

 

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2565 ขยายตัวถึง 7.1% สูงสุดในรอบ 14 ปี จากปัญหาราคาพลังงงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทบต่อราคาสินค้าต่อการดำรงชีพ 

 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากมูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 12 ของโลก

 

ซึ่งระดับเงินสำรองระหว่างประเทศ มีเป้าหมายเพื่อเป็นกันชนรองรับความเสี่ยงด้านต่างประเทศ ในกรณีเกิดเงินทุนไหลออกจำนวนมาก หรือตลาดการเงินขาดสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศเฉียบพลัน จึงต้องมีเงินสำรองทางการไว้เพียงพอ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศและนักลงทุน

 

ขณะที่ไทยเองมีหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ 10.05 ล้านล้านบาท คิดเป็น 60.81% ของจีดีพีที่ระดับ 16.52 ล้านล้านบาท โดยที่เป็นหนี้ในประเทศสูงถึง 9.87 ล้านล้านบาท คิดเป็น 98.26% ของหนี้สาธารณะทั้งหมด

 

โดยที่เป็นหนี้ต่างประเทศเพียง 174,945.63 ล้านบาท คิดเป็น 1.74% เท่านั้น ขณะเดียวกัน ยังเป็นหนี้ระยะยาวถึง 8.57 ล้านล้านบาท คิดเป็น 85.28% และหนี้ระยะสั้น 1.48 ล้านล้านบาทคิดเป็น 14.72%

 

สัดส่วนเงินสำรองทางการ ระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้น

 

ตัวเลขดังกล่าว สะท้อนฐานะด้านต่างประเทศไทยที่ยังแข็งแกร่ง เนื่องจากเงินสำรองระหว่างประเทศ มีสัดส่วนมากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นถึง 4.4 เท่า ส่วนหนึ่งเพราะไทยเคยมีบทเรียนมาแล้วในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้มีการกำหนดนโยบายภายใต้วินัยการคลังที่เข้มงวด ส่งผลให้มีทุนสำรองทางการระหว่างประเทศในระดับสูง

 

ขณะเดียวกัน ยังมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้หนี้ส่วนใหญ่เป็นสกุลบาท เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากค่าเงินที่ผันผวน แต่การใช้เงินเพื่อรับมือกับโควิด-19 จำนวนมาก จนต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะ อาจทำให้ไทยเผชิญกับภาวะการขาดดุลแฝด (Twin Deficits) ได้เช่นกัน  แม้จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาระยะสั้น แต่ก็ไม่ควรปล่อยให้ยืดเยื้อก่อนที่จะสายเกินแก้

  

หน้า 8  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,792 วันที่ 19 - 22 มิถุนายน พ.ศ. 2565