วันนี้ (18 มิถุนายน 2565) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) โดยเครือข่ายองค์กรชุมชน กับ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ในการให้บริการเป็นหน่วยรับสมัครสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ ณ สำนักงานเทศบาลนครนครสวรรค์ ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์
นายอาคม กล่าวว่า ประชากรภาคแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศเป็นแรงงานนอกระบบ เพื่อสร้างความมั่นคงในบั้นปลายของชีวิต ตลอดจนการสร้างวินัยในการออมของประชาชนคนไทยในวัยทำงาน กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จึงเป็นช่องทางการออมขั้นพื้นฐานให้แก่ผู้ที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองเพื่อการชราภาพให้ได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบบำนาญ
โดยระบบสวัสดิการบำเหน็จ – บำนาญของรัฐ หรือ นายจ้าง แต่ละอาชีพจะมีรูปแบบแตกต่างกันไป อาทิ ข้าราชการ มีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หน่วยงานเอกชน มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแรงงานในระบบ มีกองทุนประกันสังคม
สำหรับแรงงานนอกระบบ รัฐบาลได้จัดตั้งเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการวางแผนออมเงินของประชาชนเป็นอย่างมาก สร้างวินัยการออมในทุกช่วงวัย ผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. ซึ่งถือเป็นกองทุนการออมภาคประชาชน เป็นกลไกส่งเสริมการออมของแรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกร ชาวไร่ชาวนา พ่อค้าแม่ค้า ผ่านการสมัครเป็นสมาชิก กอช.
จึงได้ร่วมมือกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.ในการขับเคลื่อนส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนเข้าถึงการออมกับ กอช. มีสวัสดิการถ้วนหน้า ซึ่ง พอช. จะเป็นหน่วยรับสมัครสมาชิก กอช. ในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ประสงค์จะสมัครสมาชิก ส่งเงินออมต่อเนื่อง หรือเข้าร่วมกิจกรรมโปรโมชันต่างๆ ที่ส่งเสริมการออมด้วย
นางสาวณหทัย ขันธวิเชียร ผู้ช่วยเลขาธิการกองทุนการออมแห่งชาติ กล่าวว่า กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. มีจุดมุ่งหมายสำคัญในการสร้างหลักประกันที่มั่นคงในวัยเกษียณให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เริ่มต้นตั้งแต่อายุ 15 ปี จนเข้าสู่วัยทำงานถึงอายุ 60 ปี ออมขั้นต่ำเพียง 50 บาทต่อครั้ง สูงสุด 13,200 บาทต่อปี พร้อมรับสิทธิประโยชน์ในการเป็นสมาชิก กอช.
สิทธิประโยชน์ที่ 1 รับเงินสมทบจากรัฐ ในแต่ละช่วงอายุของสมาชิก ในเดือนถัดไป
-ช่วงอายุ 15 - 30 ปี รัฐสมทบให้ 50% ของเงินออมแต่ละครั้ง โดยรวมกันทั้งปีสูงสุด 600 บาท
-ช่วงอายุ >30 – 50 ปี รัฐสมทบให้ 80% ของเงินออมแต่ละครั้ง โดยรวมกันทั้งปีสูงสุด 960 บาท
- ช่วงอายุ >50 – 60 ปี รัฐสมทบให้ 100% ของเงินออมแต่ละครั้ง โดยรวมกันทั้งปีสูงสุด 1,200 บาท
สิทธิประโยชน์ที่ 2 ผลตอบแทนของเงินที่นำไปลงทุน ทั้งในส่วนเงินออมสะสมและเงินสมทบ และรัฐบาลค้ำประกันผลตอบแทนการลงทุน
สิทธิประโยชน์ที่ 3 ลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวนเงินออมสะสม
ทั้งนี้ ในการส่งเงินออมสะสมกับ กอช. เป็นการออมภาคสมัครใจ ไม่จำเป็นต้องออมเท่ากันทุกปีและ สะดวกที่ไหนออมได้ทุกที่ ซึ่งที่ผ่านมา กอช.ได้มีหน่วยรับสมัครและส่งเงินออมสะสมที่
อาทิ ที่ว่าการอำเภอครอบคลุมทุกพื้นที่ สำนักงานคลังจังหวัด สถาบันการเงินชุมชน ตัวแทน กอช.ประจำหมู่บ้าน ธนาคารของรัฐ อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ทุกสาขา สหกรณ์ชุมชนที่เข้าร่วม
และในครั้งนี้ กอช. ได้ยกระดับให้ประชาชนเข้าถึงการออมเพิ่มมากขึ้นในทุกชุมชน จึงได้ร่วมมือกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ในการให้บริการสมาชิก กอช. สะดวกสบายเพิ่มมากขึ้น ทั้งในการบริการตรวจสอบสิทธิ์ สมัครสมาชิกใหม่ ส่งเงินออมสะสมต่อเนื่อง และให้คำปรึกษาในการรับสิทธิประโยชน์ในการเป็นสมาชิก กอช. ด้วย
นายไมตรี อินทุสุต ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวว่า หลังจากที่เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนบ้านมั่นคง ได้แก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยโดยโครงการบ้านมั่นคงมาตั้งแต่ปี 2546 รวมจำนวน 127,780 ครัวเรือน โครงการบ้านมั่นคงมีแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญคือ การให้ชุมชนเป็นเจ้าของโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาและจัดการตนเอง
นอกจากนี้ เครือข่ายบ้านมั่นคงยังได้ส่งเสริมการพัฒนาหลายด้าน เพื่อสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง พัฒนาคุณภาพชีวิตสมาชิก เช่นมีสวัสดิการชุมชน มีกองทุนรักษาดินรักษาบ้าน มีกองทุนสวัสดิการเด็ก การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ เป็นต้น เพื่อให้บ้านมั่นคงเป็น “บ้าน ที่มากกว่า บ้าน”
ทั้งนี้ ข้อมูลปัจจุบันประชากรที่มีอายุสูงกว่า 65 ปีขึ้นไปประมาณ 9% ในตอนนี้จะทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็น 25% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในปี พ.ศ 2583 และสถิติผู้สูงอายุชาวไทยในปัจจุบัน มีมากถึง 2 ใน 3 ที่ไม่มีเงินออม ส่วนที่มีเงินออมมากกว่า 1 ล้านบาทนั้นมีเพียง 5% ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด
เมื่อสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุของประเทศไทยยังมีอยู่ในระดับจำกัด จึงต้องการเตรียมความพร้อมการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุควรจะร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชนตั้งแต่ระดับบุคคล ชุมชนและประเทศ โดยเฉพาะการร่วมกันกระตุ้นเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีการเตรียมวางแผนการออมการใช้ชีวิตในบั้นปลาย การร่วมมือกันในชุมชน การขับเคลื่อนเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการ