นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า จากกำหนดการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ( กนง.) ที่จะเกิดขึ้นอีก 3 ครั้งในปีนี้ มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายค่อนข้างสูง หรือโดยรวมไม่เกิน 0.50% ในปีนี้
อย่างไรก็ตามคณะกรรมการ ธอส. ได้มีมติเห็นชอบให้มีการดูแลลูกค้า โดยหาก กนง.มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ ธอส. จะทำการตรึงดอกเบี้ยให้นานที่สุด หรือ จะมีการปรับขึ้นในครั้งแรกในช่วงเดือนตุลาคม โดยจะขึ้นเพียงครึ่งหนึ่งหรือ 50% ของอัตราดอกเบี้ยที่ กนง. ประกาศปรับขึ้น
และหากกรณีที่ กนง. มีการประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในปีนี้ ในส่วนของ ธอส. จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 66 เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระ และให้เวลาในการปรับตัวของลูกหนี้ ซึ่งจะทำให้กำไรส่วนเกินที่คาดว่าในปี 65 นี้ ที่เดิมคาดว่าจะสูงกว่าเป้าหมาย1.3 หมื่นล้านบาท ราว 15% ลดลงเหลือเพียงกำไรตามเป้าหมายที่วางไว้เท่านั้น
“หากดอกเบี้ยตลาดขึ้น ธอส. จะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากอย่างแน่นอน เพื่อป้องกันไม่ให้เงินไหลออก ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้ ธอส. จะปรับขึ้นช้ากว่าตลาด และปรับขึ้นเพียงครึ่งหนึ่งของตลาด ก็จะทำให้กระทบต่อต้นทุนที่ ธอส.ต้องแบกรับประมาณ 1,000 ล้านบาท และหาก กนง. ขึ้นดอกเบี้ยรอบที่ 2 ในปีนี้ ธอส.ก็จะไปขึ้นดอกเบี้ยรอบที่ 2 ในช่วงต้นปี 66 ก็จะกระทบต้นทุนในปีหน้าอีก 1,300 กว่าล้านบาท” นายฉัตรชัย กล่าวยืนยัน
นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า หากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย จะยังไม่กระทบต่อเงินงวดให้มีการปรับขึ้นในทันที หากเงินงวดยังเพียงพอในการตัดชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น แต่จะทำให้เงินต้นถูกตัดลดลง ซึ่งมีผลต่อระยะเวลาการผ่อนชำระนานขึ้น เช่น จากเดิม 18 ปี เป็น 20 ปี เป็นต้น
แต่ทั้งนี้ หากดอกเบี้ยในตลาดมีการปรับขึ้นแบบกระชั้นและติดกันหลายๆ ครั้ง ก็อาจทำให้เงินงวดไม่เพียงพอที่จะไปตัดชำระดอกเบี้ย จึงจะมีผลทำให้ต้องปรับเงินงวดขึ้น แต่เชื่อว่าจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ ธอส. ที่ช้ากว่าตลาด และขึ้นเพียงครึ่งหนึ่งของตลาด จะทำให้เงินงวดในการชำระไม่ถูกกระทบและยังคงเท่าเดิมทั้งหมด
ขณะที่ตัวเลขหนี้เสีย หรือ NPL ล่าสุดอยู่ที่ 4% คาดว่าภายในปีนี้จะเพิ่มขึ้นอีก 5,000 ล้านบาท หรือ 0.2% ซึ่ง ธอส. ได้มีการสำรองหนี้เสียไว้แล้วทั้ง 100% ทำให้ไม่กระทบต่อฐานะการเงิน
สำหรับแผนการระดมทุนในปี 65 นอกจากผลิตภัณฑ์เงินฝาก และการเปิดขายสลากออมทรัพย์แล้ว ยังเตรียมออกพันธบัตรมาจำหน่าย เพื่อรองรับการปล่อยสินเชื่อที่จะเพิ่มขึ้นในปีนี้
ซึ่ง ธอส. ได้ขยับเป้าหมายในการปล่อยสินเชื่อ จากเดิม 2.2 แสนล้าน เป็น 2.8 - 3 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้ ธอส. สามารถปล่อยสินเชื่อบ้านได้เพิ่มขึ้น ทำให้ช่องว่างส่วนต่างของสินเชื่อ ระหว่าง ธอส. และ 14 แบงก์รัฐ ลดลง จากอดีตที่ห่างถึง 10% เป็นปัจจุบันเหลือเพียง 4% สะท้อนว่า ธอส. สามารถเข้าไปซัพพอร์ตสินเชื่อให้กับลูกค้าที่ต้องการซื้อบ้านได้มากขึ้น
ข้อมูลจาก : ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)