นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า การตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ จะมีผลต่อกำไรของธนาคารที่อาจหายไปบางส่วน ซึ่งธนาคารออมสินก็พร้อมที่จะแบกรับไว้เอง แต่อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ธนาคารออมสินก็สามารถ ทำกำไรเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้
โดยความสามารถในการตรึงอัตราดอกเบี้ย ขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของฐานะของธนาคาร ซึ่งปัจจุบัน ธนาคารมี NPL ในระดับเพียง 2.7 % ณ สิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ และมีเงินสำรองในระดับที่สูงถึง 165 % และ BIS Ratio สูงถึง 16-17% จากมาตรการฐาน ธปท.ที่ขั้นต่ำอยู่ที่ 8.5 %
“ไม่สามารถระบุได้ว่าจะตรึงจนถึงสิ้นปีนี้ หรือเมื่อไหร่ เนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆมีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมากในขณะนี้ โดยเฉพาะอัตราเร่งของการปรับขึ้นอัตราดอกนโยบายของต่างประเทศ” นายวิทัย กล่าว
นายวิทัย กล่าวอีกว่า หากอัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับขึ้น ผู้กู้ที่มีอัตราดอกเบี้ย แบบ Fix จะยังไม่ได้รับผลกระทบในการผ่อนชำระเงินงวด แต่กรณีคนที่กู้ใหม่เงินงวดอาจปรับขึ้น เช่น หากกู้ 1 ล้านบาท ตามปกติอาจผ่อนชำระ 7 พันบาท/งวด ก็จะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 7,500-8,000 บาท/งวด
สำหรับผู้ฝากนั้น อาจต้องฝากแบบระยะสั้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในอนาคตอาจเปลี่ยนแปลง ขณะที่ภาคธุรกิจนั้น อาจต้องเตรียมสภาพคล่องไว้ เนื่องจากเมื่อมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสภาพคล่องบางส่วนอาจหายไป จึงจำเป็นต้องสำรองไว้เพื่อธุรกิจ
ด้านนายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า แม้ขณะนี้ทิศทางดอกเบี้ยทั่วโลกกำลังอยู่ช่วงขาขึ้น แต่ ธอส. พร้อมตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ ช่วยเหลือลูกค้าออกไปอย่างน้อยถึงเดือนก.ย. 65
ส่วนหลังจากนั้นจะต้องดูทิศทางตลาดดอกเบี้ย รวมถึงดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยก่อนว่าจะมีการปรับขึ้นเท่าไร ขึ้นกี่ครั้ง แต่ ธอส. ก็พร้อมเข้าไปช่วยบรรเทาผลกระทบช่วยลูกค้าที่กู้บ้านกับ ธอส. ให้ได้รับผลกระทบน้อยกว่าภาพรวมตลาด
“การที่ ธอส.สามารถเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าได้ เนื่องจากธนาคารมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง และมีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเกินกว่า 1 แสนล้านบาทแล้ว และช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาก็มีการนำกำไรบางส่วนไปช่วยตรึงดอกเบี้ยช่วยลูกค้าไว้” นายฉัตรชัย กล่าว
นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า ขณะนี้เป็นจังหวะดีของผู้ที่ต้องการซื้อบ้านจะต้องรีบตัดสินใจ เพราะสินเชื่อยังคงมีดอกเบี้ยต่ำ และดอกคงที่เหลืออยู่ เช่น โครงการบ้านล้านหลัง เฟสสอง ดอก 1.99% ขณะนี้ขยายวงเงินกู้ไปถึง 1.5 ล้านบาท และเหลือวงเงินสินเชื่อเพียง 4 พันกว่าล้านบาท
เพราะไม่เช่นนั้นในอนาคตคาดว่าภาพรวมดอกเบี้ยจะปรับขึ้นแน่ ส่วนการปล่อยสินเชื่อเดือน มิ.ย.นี้ คาดจะปล่อยกู้ได้ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท และทั้งปีจะปล่อยกู้ช่วยคนไทยมีบ้านได้เกิน 3 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2.2 แสนล้านบาท