แบงก์ประกบ ‘พอร์ตเศรษฐี’ จัดทีมบริหารเสี่ยง ฝ่าตลาดผันผวน

24 มิ.ย. 2565 | 08:13 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มิ.ย. 2565 | 16:49 น.

แบงก์ประกบพอร์ตลูกค้าไพรเวท เวลธ์ใกล้ชิด จัดทีมบริหารเสี่ยง-ปรับพอร์ต หวังฝ่าตลาดลงทุนผันผวน จากปัจจัยลบรุมเร้า แนะถือเงินสด 30% รอช้อปหุ้นพื้นฐานดี หุ้นกู้ Krungthai CIO ชู “เวียดนาม-ญี่ปุ่น” ตลาดหุ้นน่าลงทุน

ตลาดการลงทุนทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับแรงกดดันอย่างหนัก ทั้งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)และมาตรการดูดสภาพคล่องทางการเงินในระบบกลับ(Quantitative Tightening: QT) เพื่อลดแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อ สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงและอัตราเงินเฟ้อขยับตัว จนเกิดความกังวลถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ผลตอบแทนจากการลงทุนโดยรวมในช่วงครึ่งปีนี้ติดลบ ส่วนแนวโน้มระยะข้างหน้ายังมีความเสี่ยงถึงภาวะเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย

 

นายวิริยะชัย จิตตวัฒนรัตน์ Head of Investment and Product Krungthai CIO ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา สินทรัพย์ส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือตราสารหนี้ ต่างให้ผลตอบแทนเป็นลบจาก ซึ่งในมุมลูกค้าฝั่งไพรเวท เวลธ์ ยิ่งสถานการณ์ลงทุนผันผวนและความเสี่ยงสูงขึ้น ธนาคารจะเน้นดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อบริหารความเสี่ยง

แบงก์ประกบ ‘พอร์ตเศรษฐี’ จัดทีมบริหารเสี่ยง ฝ่าตลาดผันผวน

สำหรับ Krungthai CIO จะเป็นทีมที่เน้นดูแลและบริหารความเสี่ยงลูกค้าทุกกลุ่มของธนาคารกรุงไทย รวมทั้งทุกสาขาของธนาคารกรุงไทย นอกจากการจัดกลุ่มลูกค้า เช่น กรุงไทย พรีเชียส ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริการ(AUM) ตั้งแต่ 2-9.99 ล้านบาท กรุงไทย พรีเชียสพลัส AUM 10-49.99 ล้านบาท และสูงกว่านี้คือ กลุ่มไพรเวทเวลธ์ คือ ตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป

 

ส่วนช่วงตลาดผันผวน หุ้นกู้ที่มีอนุพันธุ์แฝงจะมีความสำคัญมากขึ้น เพราะสถานการณ์แย่ที่สุด ลูกค้าที่ลงทุนกับกรุงไทยจะได้เงินต้นคืนทุกคน ซึ่งที่ผ่านมาผลตอบรับดีมาก ขณะที่ปัจจุบันแนะนำให้ลูกค้าถือเงินสด 30% เพื่อรอจังหวะหุ้นพื้นฐาน

“ตลาดผันผวนมากขึ้น ยิ่งต้องเข้าไปดูแลและให้คำแนะนำลูกค้ากลุ่มเวลธ์ถี่ขึ้น ซึ่งในแง่การแข่งขันที่ไม่มีจุดเฉือนกันในมุมผลิตภัณฑ์ แต่ทีม RM ของกรุงไทย จะเน้นดูแลและให้บริการทั่วถึงมากขึ้น” นายวิริยะชัยกล่าว

แบงก์ประกบ ‘พอร์ตเศรษฐี’ จัดทีมบริหารเสี่ยง ฝ่าตลาดผันผวน

สำหรับการจัดพอร์ตลงทุนในช่วงที่เหลือของปี หลังจากเฟดขึ้นดอกเบี้ย กลุ่มหุ้นกู้น่าจะเริ่มทยอยลงทุนได้ โดยเลือกธุรกิจหรือบริษัทที่มีฐานะการเงินแข็งแรง ซึ่งเป็นหนึ่งในทางเลือกลงทุนในตราสารหนี้ไทย และแนะให้ถือเงินสด 30% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนที่สัดส่วนถือเงินสดจะอยู่ที่ 10-15%

 

ส่วนตลาดต่างประเทศที่น่าสนใจ 2 ตลาดคือ เวียดนามและญี่ปุ่น โดยเวียดนามแนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียนมีอัตราเติบโตทั้งปีนี้และปีหน้า เห็นได้จากค่า P/E 11เท่า ตอนนี้้จึงเหมาะที่จะทยอยกลับไปเก็บอีกรอบ เพราะดัชนีหุ้นเวียดนามหลุดมาที่ 1,400 จุดจากก่อนหน้า 1,500 จุดและลงมาที่ 1,200 จุด ส่วนหุ้นญี่ปุ่น ค่า P/E ประมาณ 12 เท่า เมื่อเทียบกับตลาดพัฒนาแล้ว ค่า P/E Ratio จะต่ำกว่า ขณะที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าบวกภาวะการระบาดของโควิด-19 ที่ต่ำ และรัฐบาลจะเปิดประเทศเร็วๆ นี้ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มค้าลีกและการท่องเที่ยว

 

ขณะที่ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) ระบุว่า การแข่งขันในตลาดลูกค้าเศรษฐี (Affluent) ในเมืองไทยตื่นตัวมาก เพราะลูกค้าร่ำรวยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากช่องทางธนาคารยังมีผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร(นอนแบงก์) ที่เริ่มให้บริการจัดพอร์ตลงทุนด้วย โดยขึ้นกับไลฟ์สไตล์ว่า ที่ใดจะตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด ครบถ้วนทั้งช่องทางทั้งช่องทางปกติและออนไลน์ โดยลูกค้าของซีไอเอ็มบีไทย มีทีมงานดูแลบัญชี คอยติดตามพอร์ตและ แนะนำวางแผนอย่างต่อเนื่องพร้อมคะแนนสะสมรายเดือนผ่านแอปพลิเคชันสูงสุดถึง 12,000 คะแนนเทียบเท่า 12,000 บาทต่อปี

 

“จุดแข็งเรามีชื่อเสียงมากในผลิตภัณฑ์หุ้นกู้ตลาดแรกและตลาดรอง รวมถึงหุ้นกู้อนุพันธ์แฝงและกองทุนรวมผ่าน 12 บลจ.ชั้นนำพร้อมสินเชื่อเพื่อการลงทุน ซึ่งภาพรวมความมั่งคั่งของลูกค้ารายย่อยทั่วไปเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกลายเป็นกลุ่ม Affluent Segment เห็นได้จากฝั่ง AUM และฝั่งสินเชื่อ ซึ่งกลุ่มนี้มีศักยภาพและพร้อมลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า”

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,793 วันที่ 19 - 22 มิถุนายน พ.ศ. 2565