บทวิเคราะห์จาก บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)พาย (Pi) มองกรอบดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ทั้งสัปดาห์นี้ 1,590-1,630 เชิงกลยุทธ์การลงทุนแนะทยอยลดพอร์ตเช่นเดิมเพราะยังเต็มไปด้วยความเสี่ยงช่วงถัดไป โดยเฉพาะจากกรณีของการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
วันศุกร์ที่ผ่านมาตลาดหุ้น Dow Jones ปรับฐานแรง 2.7% , Nasdaq -3.5% รับแรงกดดันจากการรายงานเงินเฟ้อสหรัฐ (CPI) ออกมาขยายตัว 8.6%YoY และ 1%MoM สูงกว่าตลาดประเมินที่ 8.3%YoY และ 0.7%MoM และสูงสุดในรอบ 41 ปี แรงหนุนหลักยังมาจากราคาพลังงาน +34.6%YoY , ราคาน้ำมันเบนซิน +48.7%YoY , น้ำมันเตา +106.7%YoY ราคาอาหารรวมๆ +10%YoY ด้านเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน) +6%YoY สูงกว่าตลาดคาดเล็กน้อย (+5.9%YoY) เป็นแรงหนุนจากยานพาหนะใหม่ +12.6%YoY รถมือสองและรถบรรทุก +16%YoY
ขณะเดียวกันหากประเมินการเคลื่อนไหวของดัชนีเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) พบว่าความชันยังคงปรับขึ้นต่อเนื่องบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อสหรัฐยังไม่ถึงจุดสูงสุด นอกจากนี้หากเปรียบเทียบราคาน้ำมันดิบ BRT ช่วงเดือน มิ.ย. จะพบว่าปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง MoM ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อสหรัฐเดือน มิ.ย. อาจจะสูงกว่าเดือน พ.ค. โดยความเห็นของตลาดล่าสุดเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยเชื่อว่าการประชุมเดือน มิ.ย. ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ย 0.5%
สัปดาห์นี้ปัจจัยหลักของตลาดจะไปให้น้ำหนักกับการประชุมเฟดในวันที่ 14-15 มิ.ย. หรือทราบผลอย่างเป็นทางการช่วงเวลาตี 1 ตามเวลาประเทศไทยในวันที่ 16 มิ.ย. สำหรับผลประชุมครั้งนี้ตลาดคาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.5% และดอกเบี้ยทั้งปี 65 ตลาดคาดไว้ที่ 3.00-3.25%
การประชุมครั้งนี้ค่อนข้างความสำคัญเพราะจะเปิดเผยทั้งประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ (GDP , เงินเฟ้อ , ดอกเบี้ยระยะกลาง - ยาว) และมีความเสี่ยงเช่นกัน สำหรับความเสี่ยงการประชุมครั้งนี้นั่นคือความเข้มงวดจากเฟด เนื่องจากในการประชุมครั้งก่อน (มี.ค.65) เฟดคาดการณ์เงินเฟ้อ (PCE) เฉลี่ยปี 65 เพียง 4.3%YoY แต่ YTD PCE สหรัฐเฉลี่ยอยู่ที่ 5.1%YoY ขณะที่ในอดีตที่ผ่านมาย้อนหลัง 51 ปี พบว่าเฉลี่ยแล้วดอกเบี้ยสหรัฐมักจะอยู่สูงกว่าเงินเฟ้อ PCE ราว 1.5% หากอิงกับคาดการณ์ PCE จากเฟดในปี 66 พบว่าอยู่ที่ 2.7%YoY ดังนั้น เป็นไปได้ที่อาจเห็นดอกเบี้ยสหรัฐขยับไปสูงถึง 4.2% สูงกว่าเฟดประเมินไว้ที่ 2.8% ในปี 66 อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยที่อยู่ระดับสูงในอดีตมักตามมาด้วยการปรับลงของตลาดหุ้น
ปัจจัยอื่นๆ ในสัปดาห์นี้ได้แก่ (1) การรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐคาดทราบผลทางการในวันอังคารช่วงกลางคืนตามเวลาประเทศไทย Bloomberg คาดที่ 0.8%MoM หากเร่งแรงกว่าคาดก็จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ (2) ยอดค้าปลีกสหรัฐคาดทราบผลวันพุธกลางคืนตามเวลาประเทศไทย Bloomberg ประเมิน จะขยายตัว 0.2%MoM หากเร่งแรงกว่าคาดก็จะเป็นปัจจัยกดดันตลาด
ประเมินต้นสัปดาห์ SET ปรับฐานลงตาม Dow Jones ในวันศุกร์ โดยมองกรอบทั้งสัปดาห์ 1,590-1,630 เชิงกลยุทธ์การลงทุนแนะทยอยลดพอร์ตเช่นเดิมเพราะยังเต็มไปด้วยความเสี่ยงช่วงถัดไป
หุ้นแนะนำเน้น Defensive Stock อาทิ โรงพยาบาล (BCH CHG) สื่อสาร (ADVANC INTUCH) ค้าปลีก (BJC CPALL) ส่งออก (ASIAN TU)
TU (ซื้อ / ราคาเป้าหมาย 22.10 บาท) การปรับราคาทำได้ที่ฝรั่งเศสในช่วง Q2/65 รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตทำให้ช่วยลดแรงกดดันด้านต้นทุนลงได้ การออกสินค้าใหม่ๆยังมีอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่ม Value added หนุนผลประกอบการค่อยๆฟื้นตัวและได้ประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินบาท
BEM (ซื้อ / ราคาเป้าหมาย 9.50 บาท) คาดจำนวนการโดยสารรายวันจะแตะระดับ 70% ของช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิดภายใน Q3/65 และคาดว่าจะกลับสู่ระดับปกติของช่วงก่อนวิกฤติได้ภายในปลายปี 66 หนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับเข้ามาเกินครึ่งของจำนวนในช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19