การเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)และธนาคารกลางอีกหลายประเทศ เพื่อสกัดภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ส่งผลให้ตลาดเริ่มวิตกกังวลว่า อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอย(Recession)และกระทบต่อเศรษฐกิจไทย อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจหรือ Economic Intelligence Center(EIC) ธนาคาร ไทยพาณิชย์ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกเติบโตได้ดี โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคในประเทศและการส่งออก แต่มองไปข้างหน้า อุปสงค์รวมของโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายพร้อมกันของธนาคารกลางประเทศต่างๆ ซึ่งจะส่งผลเพิ่มต้นทุนทางการเงินและจะเห็นการชะลอตัวลงด้านอุปสงค์รวมของโลก
ดังนั้นเศรษฐกิจโลก แม้จะไม่เกิดภาวะถดถอย แต่มีแนวโน้มชะลอตัว และเศรษฐกิจไทยอาจไม่เร่งการฟื้นตัว หรืออาจจะเห็นเศรษฐกิจไทยชะลอตัวในระยะต่อไปและเห็นการชะลอตัวชัดในปีหน้า โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา 3 เรื่องคือ
“ทั้ง 3 ปัจจัยทั้งฝั่งการผลิตและฝั่งดีมานด์ชะลอตัวลง ทำให้เชื่อได้ว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ส่วนเศรษฐกิจไทยยังพอมีความหวังจากภาคบริการและท่องเที่ยว ซึ่งไตรมาส4 ปีนี้ อาจจะเห็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ จึงไม่กังวลใจเรื่องเงินทุนไหลออก แม้เงินบาทแนวโน้มยังอ่อนค่า แต่สภาพคล่องในระบบยังมี ดังนั้นจึงควรกังวลเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมากกว่าประเด็นเงินทุนไหลออก”นายสมประวิณกล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญต้องมีมาตรการช่วยประคองไม่ให้เงินไหลออกเร็วกว่าเงินที่จะไหลเข้า โดยเฉพาะมาตรการทางการคลังยังจำเป็น โจทย์ในการหางบประมาณเพื่อป้องกันไม่ได้เศรษฐกิจไหลลง แต่หากปล่อยจนเศรษฐกิจไหลลงอาจต้องใช้งบประมาณสูงกว่า แม้ว่ามาตรการทางเงินนั้นผ่อนคลายและเอื้อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว
นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนชาต (ttb Analytic)กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 มีโอกาสเติบโตสูงกว่า 3.0% โดยกำลังซื้อหลักจะมาจากภาคเอกชน การส่งออกและไทยเที่ยวไทยที่ช่วยพยุง โดยเฉพาะธีมการเปิดเมืองจะดึงให้คนจับจ่ายใช้สอยหลังจากอั้นมานาน แต่ราคาน้ำมันและต้นทุนราคาสินค้าที่แพงขึ้น จะค่อยๆกัดกินกำลังซื้อ ทั้งครัวเรือนและภาคธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังมีความเสี่ยงสูงขึ้นและน่ากังวล ทั้งจากภาคส่งออกจะชะลอโอกาสขยายตัวไม่เติบโตถึง 2 หลัก จากเศรษฐกิจโลกพ้นช่วงฟื้นตัวเร็ว ระดับราคาน้ำมันและราคาสินค้าที่แพงขึ้น ซึ่งภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นมีโอกาสดึงการบริโภคของภาคเอกชนให้โตชะลอลงกว่าเดิม ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังเข้ามาไม่มาก แต่เชื่อว่าปีนี้ไทยเที่ยวไทยจะสร้างรายได้ราว 9 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นกำลังหลักพยุงเศรษฐกิจไว้ เพราะรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะมีเพียง 4 แสนล้านบาทเท่านั้น
"ครึ่งปีแรกปีนี้เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณดี เพราะมีกำลังซื้อที่อั้นมา แต่ครึ่งปีหลังโมเมนตัมจะซาลง เพราะภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นและผลขาดทุนจากราคาสินทรัพย์ต่างๆที่ปรับตัวลดลง มีโอกาสจะดึงการบริโภคของภาคเอกชนให้โตชะลอลงกว่าเดิม ส่วนการส่งออกขยายตัวไม่ถึง 2 ดังนั้นครึ่งปีแรกน่าจะดีกว่าครึ่งปีหลัง โดยมองแนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลังน่ากังวล"นายนริศกล่าว
ส่วนประเด็นเงินทุนไหลออกนั้น นายนริศกล่าวว่า เป็นการพูดถึง “เงินร้อน” ไม่ใช่เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือ "FDI" เพราะฉะนั้นในเชิงเงินร้อนของนักลงทุนต่างชาติจึงไม่มาก เห็นได้จากนักลงทุนต่างชาติถือพันธบัตรไทยเพียง 9% และถือหุ้นไทยอีก 25% เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ แต่สิ่งที่น่ากังวลควรจะทำอย่างไรให้ FDI กลับเข้ามาไทยแทนที่จะไปเวียดนาม
ด้านทิศทางเงินบาท มีโอกาสอ่อนค่าต่อในช่วงถัดไป โดยมองการเคลื่อนไหวที่ระดับ 36-36.50 บาท/ดอลลาร์ แต่ไม่เกิน 37บาท โดย แนวโน้มเป็นการอ่อนค่าล้อไปกับสกุลเงินในภูมิภาค และกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งไม่นับรวมเรื่องต้นทุนที่แพงขึ้น ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มส่งออก กลุ่มอาหาร กลุ่มเกษตรแปรรูป เป็นต้น
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทยกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 คาดว่า จะเติบโต 2-3 % จากการฟื้นตัวของกลุ่มส่งออก กำลังซื้ออยู่ในกลุ่มระดับกลางและระดับบน ส่วนภาพเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะต่างไปจากครึ่งปีแรก โดยมองว่า ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะเติบโตได้ที่ 4% จากครึ่งปีแรกโตได้ 2-3% เฉลี่ยทั้งปีประมาณไว้ที่ 3.1%
ฉะนั้นครึ่งหลังภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะโดดเด่นมากขึ้น โดยมองว่า การส่งออกยังเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อน ขณะที่การท่องเที่ยวจะเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะไตรมาส 4 ที่คาดว่า มีโอกาสนักท่องเที่ยวต่างชาตจะเข้ามาได้ 3.5 ล้านคน และกำลังซื้อของคนเริ่มมีกระจายตัวมากขึ้น และเริ่มเห็นลูกจ้างมีชั่วโมงการทำงานมากขึ้นในภาคการผลิต
“บรรยากาศแบบนี้พร้อมสำหรับการปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ โดยที่ไม่ทำให้เศรษฐกิจสะดุด แม้เศรษฐกิจอาจจะลดความร้อนแรงไปบ้าง แต่มีความจำเป็น เพื่อลดการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคต หากไม่เช่นนั้น เงินเฟ้อคาดการณ์จะไหลเร็วและแรงต่อเนื่องทั้งปีนี้ไปถึงปีหน้า ซึ่งจะกดดันและชะลอการบริโภคเพราะรายได้ไม่ทันรายจ่าย”นายอมรเทพกล่าว
“เรากำลังทบทวนปรับเพิ่มประมาณการจีดีพีจาก 3.1% เพราะมีสัญญาณที่ดีมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาจากการเปิดเมือง และการเดินทางการจับจ่ายใช้สอยของคนในประเทศ และเห็นต่างจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่องเงินเฟ้อปีนี้และปีหน้า แม้เงินเฟ้อจะสูงสุดในไตรมาส 3 แต่คงจะไม่ปรับลดลงได้เร็ว” นายอมรเทพกล่าว
นายอมรเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มครึ่งปีหลังยังมีปัจจัยเสี่ยงอีกมากเช่น ปัจจัยในประเทศ 1.ห่วงเรื่องการเมืองในไตรมาส 3 จะฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนอาจ ต้องชะลอการลงทุนโครงการหรือกังวลว่า นักธุรกิจชะลอเดินทางมาเจรจาธุระกิจหลังเปิดเมือง 2. เงินเฟ้อไตรมาสแนวโน้มทะลุ 10% อาจดึงกำลังซื้อ และ 3.มาตรการทางการคลังจะดำเนินการอย่างไร เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยไม่สะดุด นอกจากมาตรการคุมราคาน้ำมัน ส่วนปัจจัยต่างประเทศยังคงต้องติดตามเฟด หากเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยอาจจะยิ่งทำให้เกิดเงินทุนไหลออก ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าต่อซึ่งจะกระทบต่อการนำเข้า
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,795 วันที่ 26 - 29 มิถุนายน พ.ศ. 2565