โครงสร้างระบบการเงินเปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควร การเปลี่ยนแปลงบางอย่างทำให้รับมือวิกฤติในบางลักษณะได้ดีขึ้น เช่น รับมือวิกฤติระบบธนาคารดีขึ้น เพราะโครงสร้างทางการเงินของไทย ลดการเป็น Bank-based financial system ลง เพิ่มบทบาทของ Market-based Financial System มากขึ้น
หนี้ต่างประเทศระยะสั้นคิดเป็น 37% ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด หากสภาพคล่องในระบบการเงินโลกลดลงมาก เงินไหลออก อาจได้เห็นเงินบาทแตะ 37 บาทต่อดอลลาร์ได้ในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า มีความจำเป็นที่สังคมไทยอาจต้องถกเถียงถึงหนทางสู่ “รัฐสวัสดิการ” รวมทั้ง การสร้างระบบหลักประกันรายได้พื้นฐานขั้นต่ำ (Universal Minimum Basic Income)
รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึง ความเป็นไปได้ของเศรษฐกิจไทยที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจการเงินแบบปี 2540 ในขณะนี้ ว่า มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำที่ประเทศไทยจะเผชิญสภาวะวิกฤติเศรษฐกิจการเงินที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 25 ปีที่แล้ว แม้นไทยจะมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง 2 ปีต่อเนื่องก็ตาม ปัญหาเกิดจากการปิดประเทศจากปัญหาโควิดและน้ำมันแพง เมื่อไทยเริ่มเปิดประเทศ ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะลดลงเรื่อยๆและน่าจะกลายมาเป็นบวกได้ในช่วงปลายปีและราคาน้ำมันน่าจะปรับตัวลดลงในช่วงต้นปีหน้า คาดไทยเกินดุลการค้าปีนี้ได้เช่นเดียวกับสองปีก่อนหน้านี้ และการส่งออกยังขยายตัวดีแต่อาจไม่ถึง 6% วิกฤติอาหารโลก กลายเป็นโอกาสของสินค้าเกษตรส่งออกของไทย
ส่วนหนี้สินต่างประเทศของไทยทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับระดับหนี้ต่างประเทศของไทยช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์ปี 2540 ช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 หนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับสูงกว่าทุนสำรองระหว่างประเทศ ช่วงสามปีก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อจีดีพีอยู่ที่ประมาณ 66% และพุ่งขึ้นเป็น 92% ในปี พ.ศ. 2541 จากการที่เงินบาทอ่อนค่าอย่างรุนแรง
ขณะนี้แม้นทุนสำรองของไทยจะมีมากกว่าหนี้ต่างประเทศถึง 1.3 เท่าโดยประมาณและหนี้ต่างประเทศปี พ.ศ. 2564-2565 ก็อยู่ที่ประมาณ 38-39% ของจีดีพี ประมาณ 1.9 แสนล้านดอลลาร์ หนี้ต่างประเทศเป็นหนี้ระยะสั้น ประมาณ 36-37% เป็นเรื่องที่ต้องจับตาว่า
หากสภาพคล่องในระบบการเงินโลกลดลงมาก หนี้ระยะสั้นต่างประเทศเหล่านี้อาจถูกเรียกคืนและสร้างแรงกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงอีกได้ในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า และหากธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.50% ในการประชุมเดือนกรกฎาคมนี้ จะทำให้เงินลงทุนระยะสั้นไหลออกมากขึ้น เราอาจได้เห็นเงินบาทอ่อนค่าแตะระดับ 36-37 บาทต่อดอลลาร์ในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า
ช่วงปี พ.ศ. 2530-2539 ไทยประสบปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรังต่อเนื่องร่วมสิบปีจากช่องว่างเงินออมและเงินลงทุน ขยายการลงทุนเกินตัว เศรษฐกิจร้อนแรง เกิดภาวะฟองสบู่ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5-6% ต่อจีดีพี
บางปีขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเกือบ 8% ของจีดีพี การใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่แบบตะกร้าเงินจึงไม่สามารถเป็นกลไกปรับความไม่สมดุลของภาคเศรษฐกิจต่างประเทศได้ดีพอ ประกอบกับมีการเปิดเสรีทางการเงิน เงินทุนระยะสั้นเก็งกำไรจึงไหลเข้าจำนวนมาก
เวลานี้ ไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแล้ว กลไกของเงินบาทจะช่วยปรับสมดุลทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศโดยเฉพาะในส่วนของดุลการชำเงิน เมื่อดุลบัญชีเงินสะพัดขาดดุลมาก เงินบาทจะอ่อนค่า เกิดจะเกิดการปรับสมดุล
อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2565 ดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งปีแนวโน้มขาดดุล 7,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น -1.5% ของ GDP ต่อเนื่องจากการขาดดุล 1.06 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ -2.1 ของ GDP% ในปี 2564 ปลายปีจะดีขึ้นชัดเจนทั้งจากดุลการค้าเกินดุลต่อเนื่อง
และรายได้ท่องเที่ยวต่างประเทศเริ่มทะยอยไหลเข้ามากขึ้น และ คาดการณ์ว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะกลับมาเป็นบวกและเกินดุลได้ในปี พ.ศ. 2566 และเงินบาทน่าจะแข็งค่าขึ้นกลับมาอยู่ที่ระดับ 32-33 บาทต่อดอลลาร์ได้
สิ่งที่น่าเป็นห่วงเป็นเรื่องหนี้สาธารณะไม่ใช่หนี้เอกชน หนี้ต่างประเทศเอกชนช่วงก่อนวิกฤติปี 2540 อยู่ในระดับสูงมากและมีสัดส่วนหนี้ระยะสั้นสูงมากๆ สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อจีดีพีอยู่ที่ 64.80-69.80 ปัจจุบันหนี้สาธารณะต่างประเทศของไทยอยู่ที่ 174,666 ล้านบาท (ประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้น)
หนี้ต่างประเทศของภาคเอกชนยังไม่สูงมาก ส่วนใหญ่กู้ในประเทศ และมีแนวโน้ม ตลาดหุ้นกู้ภายในประเทศเติบโตเพิ่มรับมือทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อจีดีพีอยู่ที่ 35% ต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤติปี 40 ประมาณ 1 เท่าตัว
ขณะนี้ ไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิอยู่ที่ 260,002 ล้านดอลลาร์ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ภาคธุรกิจและสถาบันการเงิน ก่อนปี 2540 ธุรกิจหลายแห่งสะสมความเสี่ยงจากการกู้ยืมเกินตัว (Overleverage) โดยในปี 2540 ธุรกิจมีสัดส่วนหนี้ต่อทุน (D/E Ratio) สูงถึง 5 เท่า
โดยเฉพาะการกู้เงินผ่านกิจการวิเทศธนกิจ BIBF ช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 หลายปี มีภาวะฟองสบู่อย่างชัดเจน และ เกิดวิกฤติสามมิติพร้อมกัน คือ วิกฤติค่าเงิน วิกฤติหนี้สินนำไปสู่วิกฤติสถาบันการเงิน วิกฤติเศรษฐกิจมหภาค ขณะนี้ปัญหาต่างกัน เศรษฐกิจขยายตัวต่ำ เงินเฟ้อ ยังไม่เห็นสัญญาณชัดของหนี้เสียในภาคธุรกิจขนาดใหญ่ น่าจะเกิดปัญหา Stagflation เงินเฟ้อสูง และ เศรษฐกิจถดถอย มากกว่า วิฤกติเศรษฐกิจจากฟองสบู่แตก Bubble burst และ เศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรงฉับพลัน หรือเกิดเงินฝืดรุนแรง
รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า ประเทศไทยสามารถรับมือกับปัญหาวิกฤติในลักษณะเดียวกับปี 2540 ได้ดีขึ้น แต่ไทยก็มีโครงสร้างเศรษฐกิจ (Economic Structure) และ โครงสร้างระบบการเงินเปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควร
การเปลี่ยนแปลงบางอย่างทำให้รับมือวิกฤติในบางลักษณะได้ดีขึ้น เช่น รับมือวิกฤติระบบธนาคารดีขึ้น เพราะโครงสร้างทางการเงินของไทย ลดการเป็น Bank-based financial system ลง เพิ่มบทบาทของ Market-based Financial System มากขึ้น
ภาคเกษตรกรรมของไทยรองรับแรงงานตกงานจากภาคอุตสาหกรรมได้น้อยลง โครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ทำให้ขาดความยืดหยุ่นหากจำเป็นต้องตัดลดงบประมาณลงโดยเฉพาะงบด้านสวัสดิการ ธนาคารแห่งประเทศไทย กลต ตลาดหลักทรัพย์และกระทรววงการคลังได้ร่วมกันทำแผนแม่บทที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงินตลาดทุน
หากดำเนินการตามแผนดังกล่าวได้จริงก็จะยกระดับมาตรฐานของระบบการเงินของประเทศให้เข้าสู่มาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น ควรปฏิรูประบบการเงินให้เปิดเสรีมากขึ้น ให้มีการแข่งขันมากขึ้น ส่งเสริมให้ระบบธนาคารแบบเดิมเข้าสู่ Digital Transformation การปรับปรุงระบบการเงินอาจต้องเน้นให้ความรู้ทางการเงินและการลงทุนภาคประชาชน นอกจากนี้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวรับมือกับความผันผวนและความไม่สมดุลของเศรษฐกิจภายนอกได้ดี
รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจและความท้าทายใหม่ๆอาจกลายเป็นวิกฤติที่ใหญ่กว่าวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 หากเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุมเร้าอยู่ในขณะนี้ได้อย่างมีประสิทธิผล
เริ่มตั้งแต่ ปัญหาที่หนึ่ง ปัญหาหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ปัญหานี้จะบริหารจัดการอย่างไรภายใต้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกขาขึ้น และ สร้างแรงกดดันให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศปรับตัวสูงขึ้น ช่วงสองปีที่ผ่านมา โครงสร้างทางการเงินของกิจการและธุรกิจอุตสาหกรรมบางส่วนอ่อนแอมากและถูกซ้ำเติมจากผลกระทบการแพร่ระบาดของ Covid-19 และ
ล่าสุดจากราคาพลังงานแพง มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นมีหนี้สินเพิ่มมากกว่า 4 ล้านล้านบาท บริษัทกิจการท่องเที่ยว กิจการสายการบิน กิจการขนส่ง ค้าปลีก ร้านอาหาร กิจการเหล่านี้จำนวนไม่น้อยต้องเพิ่มทุนหรือระดมทุนออกหุ้นกู้ในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้เพื่อเสริมสภาพคล่องและชำระหนี้ หนี้สินรวมของบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นมากกว่า 31 ล้านล้านบาท แม้นส่วนใหญ่เป็นหนี้ภายในประเทศ แต่ต้องระมัดระวัง เพราะสูงกว่าจีดีพีประเทศประมาณกว่า 2 เท่า และมีแนวโน้มว่า สัดส่วนหนี้สินต่อทุนและหนี้สินรวมของบริษัทจดทะเบียนจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนโดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลังของปี พ.ศ. 2565 หากดอกเบี้ยในประเทศเพิ่มขึ้น 0.5-1% สัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อจีดีพีทะลุ 60% แล้ว
ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปีนี้อยู่ที่ 86-88% ลดลงจากปีที่แล้วเล็กน้อยจากจีดีพีที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังเป็นประเทศที่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงติดอันดับโลก ตัวเลขสูงระดับนี้เข้าข่ายวิกฤติหนี้สินครัวเรือนแล้ว และ
ตัวเลขหนี้ที่ปรากฏนี้ยังไม่นับรวมการเป็นหนี้นอกการกำกับดูแลของแบงก์ชาติและหนี้นอกระบบ ฉะนั้นตัวเลขหนี้ครัวเรือนทั้งระบบอาจทะลุ 90% แล้ว จะเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ของเศรษฐกิจไทย
นอกจากนี้ยังทำให้มาตรการกระตุ้นการบริโภคได้ผลลดลง เพราะขณะนี้อัตราการผ่อนชำระหนี้เมื่อเทียบกับรายได้อยู่ที่ 34-35% ฉะนั้น ผู้บริโภคจะมีขีดจำกัดในการบริโภคเพิ่มหากรายได้ไม่เพิ่มขึ้น มีลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือประมาณ 12% ของสินเชื่อรวม ประมาณ 1 ล้านบัญชี หากดอกเบี้ยปรับตัวสูงและเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวดีนัก ลูกหนี้ที่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลืออาจเพิ่มเป็น 15% ของสินเชื่อรวมได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ขอให้ ทางการเตรียมเงินไว้ดูแลด้วย
ขณะที่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล ตัวเลขที่รายงานในระดับ 3% ของสินเชื่อรวมอาจต่ำกว่าความเป็นจริงเพราะมีการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ อย่างไรก็ตาม เอ็นพีแอลในระดับนี้ยังไม่ใช่ปัญหาเพราะตอนวิกฤติปี 2540 เอ็นพีแอลเคยพุ่งแตะระดับ 52% ของสินเชื่อรวม นอกจากนี้เวลานี้ ระบบธนาคารของไทยมีกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือ BIS Ratio อยู่ที่ 19.7% ฉะนั้นวิกฤติภาคการเงินหากเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้จะมาจากกลุ่ม Non-Bank มากกว่า
2. ปัญหาเงินเฟ้อสูงและค่าครองชีพแพง รวมทั้ง ภาวะการขาดแคลนสินค้าหรือวัตถุดิบบางอย่าง ปัญหาเงินเฟ้อนี้กระทบกับครอบครัวรายได้น้อย กระทบผู้คนระดับฐานรากมากที่สุด โดยเฉพาะบรรดาแรงงานลูกจ้าง ส่วนผู้ประกอบการสามารถพลักภาระด้วยการปรับขึ้นราคาสินค้าได้ ส่วนการขาดแคลนวัตถุดิบนั้นกระทบต่อภาคการผลิต ภาวะเงินเฟ้อสูงเกิดจากราคาพลังงานแพงเป็นปัจจัยหลัก ไทยเป็นประเทศนำเข้าพลังงานสุทธิ จึงต้องเร่งรัดการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก
3.ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมอันเป็นผลมาจากโครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงและการเข้าสู่สังคมชราภาพ
4. ปัญหาความไม่สมดุลของตลาดแรงงาน เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานในบางภาคส่วน ขณะที่เกิดการว่างงานจากการล้มละลายของธุรกิจและแรงงานจำนวนไม่น้อยจะกลายเป็นส่วนเกินของระบบเศรษฐกิจที่ใช้ระบบอัตโนมัติ เอไอ หุ่นยนต์และอัลกอริทึม ขณะเดียวกันก็มีงานใหม่ๆเกิดขึ้นจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การออกแบบระบบเศรษฐกิจให้แรงงานมนุษย์สามารถทำงานร่วมกับเอไอได้จึงเป็นโจทย์สำคัญของสังคมไทย ตลาดงานในอนาคตควรเป็นตลาดงานที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างมนุษย์กับเอไอมากกว่าจะแข่งขันแย่งงานกัน รัฐมีหน้าที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างงานใหม่ทดแทนงานที่หายไป ไม่เช่นนั้น ปัญหาการว่างงานเชิงโครงสร้างอย่างถาวรจะเกิดขึ้นในไทยเช่นเดียวกับบางประเทศในยุโรปและละตินอเมริกา
และ5.ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมอย่างรุนแรงอันนำมาสู่ความไม่สงบทางสังคมและความไม่มีเสถียรภาพของระบบการเมืองได้ มีความจำเป็นต้องออกแบบโมเดลทางเศรษฐกิจการเมืองไทยใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับความท้าทายใหม่ๆในศตวรรษที่ 21
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลจากเทคโนโลยีดิสรัปชัน มีความจำเป็นที่สังคมไทยอาจต้องถกเถียงถึงหนทางสู่ “รัฐสวัสดิการ” รวมทั้ง การสร้างระบบหลักประกันรายได้พื้นฐานขั้นต่ำ (Universal Minimum Basic Income) โมเดลทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมแบบเดิมที่ใช้กันมาในโลกนี้รวมทั้งไทย อาจไม่เพียงพอที่จะรับมือความท้าทายในศตวรรษที่ 21 ได้