บสย. ชงคลัง ขอเงินช่วยค้ำประกันสินเชื่อ SME – รายย่อย เพิ่มอีกกว่า 1 แสนล้าน

05 ก.ค. 2565 | 08:09 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ค. 2565 | 15:15 น.

บสย. เดินหน้าชง คลัง ขอเพิ่มวงเงินทำ “โครงการไมโคร 5” อีก 30,000 ล้าน และ “โครงการ PGS-10” ไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้าน หวังช่วยเสริมสภาพคล่องเอสเอ็มอี และผู้ค้ารายย่อย ในยุคเงินเฟ้อ พร้อมคาด ณ สิ้นปี 65 จะสามารถค้ำประกันสินเชื่อได้ตามเป้าหมายที่ 1.7 แสนล้านบาท

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. เปิดผยว่า ขณะนี้ บสย. ได้เสนอกระทรวงการคลัง ในการขออนุมัติงบประมาณ 30,000 ล้านบาท เพื่อทำโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneurs หรือ โครงการไมโคร 5 และ โครงการ PGS-10 หรือ โครงการค้ำประกันสินเชื่อให้ SMEs อีกไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้านบาท

 

ทั้งนี้มองว่าทั้ง 2 โครงการ บสย.ยังต้องทำต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาวะการณ์ปัจจุบันที่อยู่ในภาวะเงินเฟ้อ และยังต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้ประกอบการที่เป็นผู้ค้ารายย่อย และเอสเอ็มอี ซึ่งถือเป็นเรียลเซ็กเตอร์ หรือ เศรษฐกิจที่แท้จริง

โดยในปี 64 ที่ผ่านมา บสย. ได้เข้าไปช่วยเหลือค้ำประกันสินเชื่อในภาพรวมแล้วประมาณ 2.2 แสนราย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นกลุ่มเปราะบาง หรือ กลุ่มไมโคร ซึ่งได้แก่ ผู้ค้ารายย่อย จำนวน 1.7 แสนราย วงเงินรวม 2.5 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยวงเงินสินเชื่ออยู่ที่ 1.2 แสนบาทต่อราย

“เท่าที่คุยกับธนาคารของรัฐขนาดใหญ่ วงเงินค้ำประกันสินเชื่อที่ตอนนี้อยากให้ บสย. เข้าไปช่วยในกลุ่มไมโคร เฉลี่ยต่ำสุดอยู่ที่ 5 หมื่นบาทต่อราย และเป็นสินเชื่อระยะสั้น ซึ่งในภาวะแบบนี้ บสย. หุบร่มไม่ได้ จึงต้องเร่งคุยกับกระทรวงการคลังว่า ทั้ง 2 ส่วน คือ ไมโคร5 และ PGS10 เราต้องเร่งทยอยออกมาแล้ว” นายสิทธิกร กล่าว

 

ขณะเดียวกัน บสย. ยังได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าผ่านศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงินเอสเอ็มอี (บสย. F.A. Center) ซึ่งพบว่าตั้งแต่ปี 2563 ศูนย์ดังกล่าว มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มาขอคำปรึกษากว่า 1.2 หมื่นราย คิดเป็นวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนนี้ได้รับการช่วยเหลือเรียบร้อยแล้วประมาณ 2 พันราย

 

นายสิทธิกร กล่าวอีกว่า ในส่วนของผู้ค้ารายย่อย ที่ต้องการเข้าโครงการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. สามารถเข้ามาขอรับคำปรึกษาที่ศูนย์ F.A. Center พร้อมเตรียมหลักฐานเบื้องต้น เช่น ข้อมูลสินค้า รายรับ-รายจ่าย เป็นต้น ซึ่งหลังจากนั้น ศูนย์ฯ จะให้คำแนะนำ และการเตรียมความพร้อมในการขอสินเชื่อผ่านสถาบันการเงิน โดยให้ บสย. เข้าไปช่วยค้ำประกัน เพื่อนำเงินทุนที่ได้ไปเสริมสภาพคล่องและเป็นทุนหมุนเวียนในการค้าขายต่อไปได้

 

ขณะที่ ยอดค้ำประกันของ บสย. ณ วันที่ 30 มิถุนายน 65 อยู่ที่ 92,879 ล้านบาท มียอดอนุมัติค้ำประกัน LG หรือ หนังสือค้ำประกันสินเชื่อ จำนวน 70,688 ฉบับ มีจำนวนลูกค้ารวม 68,700 ล้านราย คาด ณ สิ้นปี 65 จะสามารถค้ำประกันสินเชื่อได้ตามเป้าหมายที่ 170,000 ล้านบาท