นางสาวอาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย)กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ตลาดหุ้นผันผวน ฝ่ายวิจัย ได้ปรับลดเป้าหมายดัชนีหุ้นปีนี้จากเดิม 1,800 จุดลดลงเหลือ 1,680 จุด เนื่องจาก ตลาดยังมีความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อสูงและวิตกกังวลว่า อาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาห่วงโซ่อุปทาน สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาพลังงาน ธัญพืชและอาหารสูงขึ้น
นอกจากนี้ตลาดยังมีความกังวลการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจและรายย่อย ภายใต้เศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยพยุงจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกที่ยังเติบโตต่อเนื่อง รวมทั้งประเทศไทยยังมีความมั่นคงทางอาหารสูง
สำหรับปัญหาเงินเฟ้อ ประเมินว่า ช่วงไตรมาส 4/2565 มีโอกาสชะลอตัวลง หากราคาน้ำมันดิบไม่ได้พุ่งแรง โดยอัตราเงินเฟ้อของไทยเดือนพฤษภาคม 2565 ถือว่าเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบกว่า 10 ปี ขณะที่เงินเฟ้อของสหรัฐฯทำสถิติสูงสุดในรอบ 40 ปี ซึ่งเงินเฟ้อสูงรอบนี้มาจาก Cost Push ตัวหลักคือ ราคาพลังงาน ดังนั้นถ้าราคาพลังงานไม่ถอยลง อัตราเงินเฟ้อก็จะลดลงไม่ได้
ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯอาจจะมีการปรับเพิ่มดอกเบี้ยขึ้นอีก 0.75% ในการประชุมรอบต่อไป 26-27 กรกฎาคม นี้ และคาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)มีโอกาสเริ่มปรับเพิ่มขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในครึ่งปีหลังของปี 2565
ปัจจัยที่ควรระวัง คือ เม็ดเงินไหลออกจากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐและไทยที่จะกว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยในสิ้นปี 2565 อาจเห็น Gap ที่สูงถึง 2.25% ซึ่งประเด็นนี้ผนวกกับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ประเมินไว้ว่าปีนี้จะอยู่ที่ 7-8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจะทำให้เงินบาทยังคงอ่อนค่าเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐ
กลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิจัยของบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ฯแนะนำให้ทยอยสะสมหุ้นที่ธุรกิจได้ผ่านจุดต่ำสุด และมีแนวโน้มฟื้นตัวและมี Upside สูง โดยธีมการลงทุนในไตรมาส 3/2565 ประกอบด้วย หุ้นธีมเปิดเมือง (Reopening) ธีมหุ้น Defensive ธีมหุ้น EV ธีม Healthcare ธีมดอกเบี้ยขาขึ้น และธีมปันผลสูง
นายธนวัฒน์ ปัจฉิมกุล ผู้อํานวยการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย)เปิดเผยในงานสัมนาออนไลน์หัวข้อ “ปรับพอร์ต รับวิกฤตหุ้นครึ่งปีหลัง”ว่า อัตราเงินเฟ้อสูงจะยังคงเป็นภัยคุมคามต่อการลงทุน ซึ่งจะหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อจนกว่าจะเห็นปัญหา ซัพพลายเชน ดีสรัปชั่น(Supply Chain Disruption) และสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศคลี่คลาย
ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยบล.ดีบีเอส ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจ(จีดีพี)ปี 2565 ใหม่ โดยปรับลดจีดีพีสหรัฐอเมริกาจากเดิม 3% เหลือ 2.5% จีดีพีประเทศในยุโรปจาก 3% เหลือ 1.4% จีดีพีจีนจาก 5.3% เหลือ 4.8% ญี่ปุ่นเหลือจาก 2.2% เหลือ 1.6% ส่วนประเทศไทยคงคาดการณ์จีดีพีเติบโตเท่าเดิมที่ 3.5%
“การปรับลดจีดีพีเป็นผลจากเห็นสัญญาณแนวโน้มเศรษฐกิจจะถดถอยกำลังแรงขึ้น สะท้อนจากส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐรุ่น 10 ปี และ 2 ปี เริ่มกลับมาใกล้ติดลบ ซึ่งบลูมเบิร์กได้ทำโมเดลคาดการณ์ว่า โอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยถึง 98% ในระยะ 24 เดือนข้างหน้า แนวโน้มเศรษฐกิจและแนวโน้มการบริโภคทั่วโลก ถูกฉุดด้วยนโยบายเข้มงวดทั้งการเงิน - การคลัง รวมทั้งยังต้องจับตาจีนว่า จะผ่อนคลายนโยบายโควิดเร็วๆนี้หรือไม่”นายธนวัฒน์กล่าว
สำหรับแนวโน้มการลงทุน ในไตรมาส3/2565 ฝ่ายวิจัย บล.ดีบีเอส ยังคงแนะนำเพิ่มน้ำหนักในหุ้นจีนและญี่ปุ่น เนื่องจากมองว่า ทั้ง 2 ประเทศมีความโดดเด่นและน่าสนใจ โดยได้ปรับเพิ่มน้ำหนักหุ้นจีนตั้งแต่ไตรมาส 2/2565 เพราะผู้นำจีนประกาศแนวนโยบายหนุนเศรษฐกิจอย่างชัดเจน และในไตรมาส3/2565 แนะนำให้ปรับเพิ่มน้ำหนักหุ้นญี่ปุ่นด้วย เนื่องจากมองว่าหุ้นญี่ปุ่นมักจะ outperform เมื่อค่าเงินเยนอ่อน
ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ แนะนำกลุ่มที่มีเรทติ้งระดับ A/BBB และมีอายุตราสารไม่ยาวนักอยู่ที่ประมาณ 3-5 ปี โดยให้ลดน้ำหนักหุ้นกู้ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ เพราะมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงในการลงทุนช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ จะมาจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐบาล การเมืองระหว่างประเทศ เทคโนโลยี สภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม การลงทุนในอุตสาหกรรมเฉพาะมีความเสี่ยงสูงกว่าตลาดโดยรวม
นายสมบัติ เอกวรรณพัฒนา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล. ดีบีเอส วิคเคอร์สกล่าวว่า ช่วงที่น้ำมันดิบผันผวนด้านอุปทานจากการแซงชั่นรัสเซีย กรณีสงครามรัสเซีย – ยูเครน ทำให้น้ำมันขึ้นราคา ส่งผลดีกับอุตสาหกรรมต้นน้ำเช่น PTTEP ,PTT หุ้นโรงกลั่น เช่น BCP,TOP,ESSO,SPRC และหากน้ำมันลดราคาลง ตามเศรษฐกิจโลกชะลอจะเป็นผลดีกับอุตสาหกรรมที่นำน้ำมันหรือก๊าซไปใช้เป็นเชื้อเพลิง หรือที่เรียกว่า Anti Commodity เช่นหุ้น SCC, BGRIM, GPSC, SCGP, CBG ,OSP, AAV, BA, EPG
ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยไทยกำลังเป็นขาขึ้น หลักทรัพย์ได้ประโยชน์เป็นหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่ไม่ได้ทำธุรกิจเช่าซื้อ เช่น KBANK, BBL, TTB ส่วนหุ้นที่ได้รับผลกระทบทางลบจะเกี่ยวกับการทำไฟแนนซ์ ธุรกิจเช่าซื้อ เช่น KKP, TISCO, SAWAD, MTC
อย่างไรก็ตามไทยยังโดดเด่นด้านการฟื้นตัวจากการเปิดเมือง โดยเฉพาะการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน หากการท่องเที่ยวไทยฟื้น จะสามารถทดแทนการส่งออกที่ชะลอลงตามเศรษฐกิจโลก ส่วนหุ้นได้รับผลดีจาการเปิดเมือง เช่น หุ้นสนามบิน AOT หุ้นสายการบิน AAV, BA หุ้นโรงแรม ERW , CENTEL, MINT, SHR หุ้นศูนย์การค้า CPN, CRC หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล ที่เน้นลูกค้าต่างประเทศ ได้แก่ BH, BDMS, BCH
หลักทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จากจีนซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ ด้านการลงทุนกลุ่มที่ดิน มีกิจกรรมการขาย &โอน เช่น กลุ่มการลงทุน มี AMATA, WHA, ROJNA กลุ่มอสังหาฯ มี AP, NOBLE, ORI, SC
ส่วนผลกระทบจากเงินบาทที่อ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศยังไม่ปรับขึ้น ไม่จูงใจนักลงทุนต่างประเทศ ให้เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ค่าเงินบาท จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการไหลออกของ Fund Flow ขณะเดียวกันการที่ค่าเงินบาทอ่อนจะส่งผลดีต่อการส่งออก ส่วนการนำเข้ามีต้นทุนสูงขึ้น โดยเฉพาะการนำเข้าที่ส่งผลกระทบวงกว้าง เช่น น้ำมัน เครื่องจักร
อย่างไรก็ตามหลักทรัพย์กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ จะได้รับผลกระทบ ด้านอุปสงค์ลด และมีปัญหา Supply Chain Disruption แต่การส่งออกอาหาร ได้ประโยชน์ จากราคาสินค้าส่งออกสูงขึ้น และกลุ่มอาหาร ได้ประโยชน์จากภาวะสงคราม เช่น ASIAN, CFRESH, GFPT, TU
“หากรัฐบาลกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้า โครงการขนาดใหญ่ กลุ่มหลักทรัพย์ผู้รับเหมาก่อสร้าง จะได้ประโยชน์ หุ้นเด่นคือ CK กระตุ้นเศรษฐกิจโครงการ EEC กลุ่มนิคมก็จะได้ประโยชน์ ส่วนกรณีที่ภาครัฐแทรกแซงภาคเอกชน เพื่อบรรเทาภาระภาคประชาชน ช่วยพยุงราคาดีเซล ในกองทุนน้ำมันติดลบถึงระดับแสนล้าน โดยขอความร่วมมือโรงกลั่นน้ำมันแบ่งกำไรส่งเข้ากองทุนน้ำมัน ราคาหุ้น TOP, ESSO, BCP, SPRC และ โรงแยกก๊าซ PTT จึงมีความผันผวนสูง ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาราคาหุ้นลงมารับข่าวส่วนหนึ่งไปแล้วก็ตาม”นายสมบัติกล่าว
นายสมนึก จันทร์รัสมี ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์สกล่าวว่า ภาพระยะสั้นดัชนีตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมาอ่อนตัวลงแรงกว่า 100 จุด แม้จะทำให้ดูเหมือนจูงใจให้เกิดแรงซื้อที่จะดึงให้ตลาดมีโอกาสเปลี่ยนทิศทางกลับเป็นขาขึ้นได้ โดยอาศัยสัญญาณ Oversold หนุน แต่เมื่อประเมินจากภาพรวมแล้ว ตลาดน่าจะมีทิศทางปรับตัวลงก่อนแล้วจึงจะเปลี่ยนทิศทางตามมาได้ โดยประเมินแนวรับอยู่ที่ 1,500 ,1,450 หรือ 1,400 จุด
สำหรับกลยุทธ์การเก็งกำไร กรณีดัชนีสูงกว่า 1,600 จุด ให้เน้นซื้อค่าบวก เพื่อลุ้นหรือรอขายที่แนวต้านระดับ 1,620-1,650 จุด แต่หากดัชนีต่ำกว่า 1,600 จุด เน้นซื้ออ่อนตัว ที่ 1,500,1,450 หรือ 1,400 จุด เพื่อลุ้นและรอขายเมื่อมีการปรับขึ้น