บริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า(ประเทศไทย) ออกบทวิเคราะห์หุ้น บริษัทตงฮั้ว โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TH เผย จุดเด่นที่สำคัญคือ 1) TH เป็นบริษัทที่ไม่มีหนี้ และมีเงินทุนที่ถูกเก็บไว้ในกองทุนตลาดเงินและหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนต่ำ จำนวนมาก ซึ่งทยอยถูกนำมาใช้ลงทุนขยายธุรกิจ ส่งผลให้บริษัทไม่มีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยมากเท่ากับผู้เล่นรายอื่น จึงมีศักยภาพในการทำกำไรรสูงกว่า
2) บริษัทเริ่มต้นธุรกิจด้วยการบริหารจัดการ NPL ที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งสามารถโอนสิทธิในลูกหนี้ได้เร็วและมี Ticket Size ต่อบัญชีไม่สูงมาก ทำให้สามารถตกลงกับลูกหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ได้ง่าย และ 3) บริษัทมีทีมผู้บริหารและพนักงานที่มีประสบการณ์ ทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพทั้งการติดตามและจัดเก็บเงินจากลูกหนี้
นอกจากนี้บริษัทยังมีความพร้อมที่จะเข้าประมูลหนี้เสียจากสถาบันการเงินเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปี โดยวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา บริษัทรายงานตลาดหลักทรัพย์หลัง ได้รับใบอนุญาตจดทะเบียนประกอบธุรกิจบริหารสินทรัพย์ จากแบงก์ชาติทำให้สามารถเข้าประมูลหนี้เสียของธนาคารเพิ่มเติมได้จากเดิม และได้รับการยกเว้นภาษีในการโอนหลักทรัพย์ค้ำ ประกันของลูกหนี้ที่จะประมูลเข้าสู่พอร์ตหนี้เสียของบริษัท
ทำให้นอกเหนือจากการขยายพอร์ตสินเชื่อในส่วนของหนี้เสียที่ไม่มีหลักประกันจาก Non-Bank ที่บริษัทได้เริ่มดำเนินงานไปแล้วใน 4Q64 คาดจะเริ่มเข้าสู่การประมูลหนี้เสียที่มีหลักประกันของธนาคาร ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาทิศทางบริษัทที่อาจเริ่มจากการติดตามพอร์ตสินเชื่อยานยนต์ที่มีขนาด Ticket Size ไม่ใหญ่มากหรือสินเชื่อประเภทบ้านและที่ดินที่มีความเสี่ยงต่ำคาดเห็นความชัดเจนใน 2Q65
ส่วนการบริหารจัดการเป็นแบบ Asset light ที่เน้นการ Outsource งานติดตามหนี้ให้กับบริษัทรับจ้างติดตามหนี้ 3rd Party เพื่อลดข้อจำกัดด้าน Capacity ในการบริหารจัดการหนี้เสีย โดยปี 2565 ได้เพิ่มการใช้บริการบริษัทตามหนี้จาก 1แห่งเป็น 4 แห่ง เพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบและแข่งขันรวมถึงกระจายความเสี่ยงในการดำเนินงาน ลดการพึ่งพาบริษัทใดบริษัทหนึ่งมากเกินไป สะท้อนถึงความพร้อมในส่วนของระบบหลังบ้านที่จะรองรับการขยายพอร์ตหนี้เสียเชิงรุก
ณ สิ้นปี 2564 ใน TH มีเงินสดและเงินลงทุน (เงินลงทุนในหลักทรัพย์ และตราสารทางการเงิน) อยู่อีกราว 600 ล้านบาท บวกกับกระแสเงินสดที่จะทยอยเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ จากการติดตามหนี้ ทำให้มีเงินลงทุนเพียงพอสำหรับรองรับการประมูลหนี้เสียในปีนี้ ส่วนการเติบโตในปี 2566 เบื้องต้นบริษัทคาดจะประมูลหนี้เพิ่มอีก 6 พันลล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการบริษัทได้ขออนุมัติผู้ถือหุ้นเพื่อออกหุ้นกู้มูลค่า 2 พันล้านบาทเตรียมไว้ เป็นทางเลือกฉุกเฉิน
หากมีจังหวะการประมูลซื้อหนี้เสียที่เหมาะสม นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นเพื่อออก TH-W3 จำนวน 241 ล้านหุ้น (ให้กับผู้ถือหุ้นเดิมในอัตรา 4:1, ราคาใช้สิทธิ 1 บาท, อัตราการแปลง 1:1, อายุ 3 ปี) เป็นวงเงินเสริมสภาพคล่องในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า
ปี 2565 คาดจะเห็นการเติบโตที่ชัดเจนขึ้น ประกอบกับปีนี้จะเป็นปีที่ธนาคารต่างๆ เริ่มกลับมาเปิดประมูลขายหนี้เสียให้กับ AMC มากขึ้น เพราะลูกหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือและปรับโครงสร้างหนี้ทยอยครบกำหนดได้รับความช่วยเหลือ และต้องกลับมาชำระค่างวดตามปกติ ส่งผลให้ลูกหนี้บางส่วนจะเริ่มตกชั้นเป็น NPL จึงมองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ TH จะสามารถซื้อหนี้ได้ในระดับ 5-6 พันล้านบาทในปีนี้ ทั้งจากการเข้าร่วมประมูลหนี้เสียของ Non-bank เดิม และเริ่มเข้าไปประมูลหนี้ของธนาคาร
ด้าน บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า TH เดินหน้าปรับโครงสร้างธุรกิจซื้อหนี้มาบริหารอีกพันล้าน ฐานะการเงินบริษัทแข็งแกร่ง และมีการแจก Warrant โดยบริษัทประกอบธุรกิจลงทุนเป็นหลัก เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ประกอบธุรกิจหลัก คือ ผลิตและจำหน่ายหนังสือพิมพ์รายวันภาษาจีน “หนังสือพิมพ์ตงฮั้ว” ที่เป็นผู้นำหนังสือพิมพ์จีนชั้นนำในประเทศไทยที่มีประวัติยาวนานกว่า 60 ปี เป็นหนังสือพิมพ์จีนที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุด
ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทได้ปรับโครงสร้างบริษัท แบ่งเป็น 2 ธุรกิจหลัก คือ 1. สายเทคโนโลยีและมีเดีย โดยธุรกิจสายเทคโนโลยีและมีเดียประกอบไปด้วย บริษัท ตงฮั้ว แล๊ป ที่มีคุณอาณกร กยาวัฒนกิจ เป็นประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี (CTO) มีความเชี่ยวชาญด้านเหรียญคริปโตและได้เคยทำงานร่วมกับผู้ร่วมก่อตั้งเหรียญ Ethereum ช่วยเข้ามาดูแลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ๆ บริษัท ตงฮั้ว มีเดีย แล๊ป ทำธุรกิจสื่อและจะเป็นสื่อยุคใหม่ที่มีการวิจัยและพัฒนาในด้านสื่อและการไม่รวมศูนย์ (Decentralized) เป็นหลัก
2. สายการเงิน โดยธุรกิจสายการเงินประกอบไปด้วย บริษัท ตงฮั้ว แคปปิตอล จำกัด บริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 99.99% ดำเนินธุรกิจให้สินเชื่อโดยให้บริการเงินกู้เงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น หรือ แฟคตอริ่ง ซึ่งให้บริการเงินกู้เงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นและถือหุ้น 90% ในบริษัทตงฮั้ว แอสเซท จำกัด ดำเนินธุรกิจค้าปลีก แต่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงธุรกิจเป็นให้เช่าพื้นที่เพื่อจำหน่ายสินค้า ให้บริการเงินกู้ และให้บริการเงินกู้โดยการรับโอนสิทธิ์การรับเงินจากลูกค้า
จัดเก็บเงินจากลูกหนี้ รับซื้อ ขายฝากโดยมีหลักประกันเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหรือหลักประกันอื่น และถือหุ้น 99.99% ของ บริษัท บริหารสินทรัพย์ตงฮั้ว จำกัด (THAM) ทำธุรกิจบริหารและจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมีสินทรัพย์ที่บริหารก้อนแรก 3,045 ล้านบาท ที่ประมูลมาในปี 64และบริษัทยังมีแผนซื้อหนี้ในปีต่อๆ ไป อีกปีละ 5-6 พันล้านบาท ซึ่งจะทำให้บริษัทนี้เป็นบริษัทที่ผลักดันผลการดำเนินการบริษัทอย่างมีนัยสำคัญในช่วงต่อจากนี้ รวมถึงแผนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
THAM ชนะการประมูลหนี้มาบริหารอีก 1,000.55 ล้านบาท TH แจ้งตลาดฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 4 มีค.ที่ผ่านมาว่า บริษัทบริหารสินทรัพย์ตงฮั้ว จำกัด (THAM) ชนะการประมูล ลงนามสัญญา และชำระเงินเรียบร้อยแล้วในการซื้อหนี้ล็อตที่ 2 มูลค่า 1,000.45 ล้านบาท (จากเป้าหมายที่จะซื้อหนี้มาบริหารในปีนี้ทั้งหมด 6,000 ล้านบาทในปี 2565)
ปรับเพิ่มรายได้ THAM ในปี 2565 เป็น 312 ล้านบาท (จำกเดิม 250 ล้านบาท) เราปรับประมาณการรายได้ในปี 2565 ใหม่ว่า THAM จะมีรำยได้เพิ่มขึ้นเป็น 312 ล้านบาท (จากเดิม 250 ล้านบาท) ซึ่งมาจากการรับรู้รายได้จากหนี้ก้อนเดิมที่ซื้อมาบริหารเต็มปี บวกกับหนี้ที่ซื้อเข้ามาใหม่ล่าสุดอีก 1 พันล้านบาท โดยมีสัดส่วนการรับรู้รายได้จากการเรียกเก็บหนี้ที่ 0.60 0.62% ต่อเดือน
กำไรสุทธิปี 2565 เติบโตก้าวกระโดด 73% เป็น 166 ล้านบาท จาก 96 ล้านบาทในปี 64 เป็นผลจาก 1) คาดว่าบริษัทจะมีกำไรสุทธิจากธุรกิจสื่อเดิมและจากการรับจำนำสินทรัพย์ 35 ล้านบาท, 2) มีรายได้จาก THAM 312 ล้านบาท, 3) อัตรากำไรขั้นต้นของ THAM อยู่ที่ 70% และ 4) THAM มีค่าใช้จ่ายในการบริหารและอื่นๆ 15% ของรายได้
ประมาณการรายได้ยังมี Upside risk เนื่องจากรายได้ที่ประมาณการ 312 ล้านบาท ยังไม่รวมหนี้ที่บริษัทมีโอกาสประมูลได้เพิ่มอีกจากเป้าหมายปีนี้ที่ตั้งไว้ที่ 6,000 ล้านบาท ซึ่งหากบริษัทชนะได้หนี้มาบริหารเพิ่มอีก ก็จะทำให้รายได้สูงขึ้น
สมมติฐานในการประเมินมูลค่าหุ้น เราประเมินมูลค่าหุ้นโดยใช้ GGM ประเมินมูลค่าพื้นฐานอ้างอิงที่ 3.3 เท่าของ PBV (บริษัทใกล้เคียงในตลาดอย่าง JMT ที่ซื้อขายที่ 4.72 เท่าของ P/BV และ CHAYO ซื้อขายที่ 4.69 เท่าของ P/BV) โดยประเมินมูลค่าทางบัญชีปี 2565 อยู่ที่ 1.50 บาท โดยใช้สมมติฐานยังไม่มีการแปลงวอร์แรนต์ในปีนี้
ประเมินราคาพื้นฐาน TH ไว้ที่ 4.95 บาทต่อหุ้น ซึ่งเพิ่มจากเดิมที่ 4.32 บาท เพราะการได้สินทรัพย์ก้อนใหม่เข้ามาบริหาร แต่ยังไม่รวมการประมูลใหม่ๆ ของบริษัทในช่วงที่เหลือของปี 2565 ที่บริษัทยังจะประมูลเพิ่มตามเป้าหมายอีก 5 พันล้านบาท ณ ที่ราคาหุ้นปัจจุบันมี Upside ราว 50%
ดังนั้น บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ให้คำแนะนำ “ซื้อ” โดยบริษัทมีจุดเด่นที่ไม่มีต้นทุนทางการเงินในช่วงแรกของการดำเนินธุรกิจ จากฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง ทำให้มีต้นทุนทางการเงินต่ำมาก