ค่าเงินบาทอ่อนค่าผ่านระดับ 36.00 ไปแตะระดับ 36.12 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าที่สุดในรอบกว่า 6 ปี (ประมาณ 6 ปี 5 เดือน นับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนม.ค. 2559) ก่อนจะกลับมาปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 36.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 35.82 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า การอ่อนค่าของเงินบาทยังคงสอดคล้องกับเงินเอเชียหลายสกุลท่ามกลางมุมมองของตลาดที่คาดการณ์ว่า แม้วัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของเอเชียจะเริ่มขึ้นแล้ว (หรือกำลังจะเริ่มขึ้น) ในหลายประเทศ แต่จังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยก็จะยังคงล่าช้าและตามหลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ อยู่พอสมควร นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ยังแข็งค่าขึ้นในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อภาวะถดถอยของเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป
สำหรับทิศทางฟันด์โฟลว์ในวันนี้ แม้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 2,285.53 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น net outflow ออกจากตลาดพันธบัตร 1,438 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตรไทย 438 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 1,000 ล้านบาท)
ส่วนค่าเฉลี่ย Indicative forward points ของธุรกรรมระยะ 3 เดือนสำหรับผู้ประกอบการที่มีรายได้ 50-200 ล้านบาทต่อปี รายงานข้อมูล ณ 10.00 น. วันที่ 6 กรกฎาคม 2565 โดยธปท. อยู่ที่ -17.06 สำหรับผู้ส่งออก (ขายเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า) และที่ -14.06 สำหรับผู้นำเข้า (ซื้อเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า)
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ คาดไว้ที่ 35.80-36.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนเดือนมิ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ