อย่างไรก็ตามตราสารหนี้ผลตอบแทนติดลบเหล่านี้อาจกำลังจะหายไปในไม่ช้าหลังจากที่เริ่มเข้าสู่ยุคของดอกเบี้ยขาขึ้นซึ่งธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง
ตราสารหนี้ผลตอบแทนติดลบเกิดขึ้นเป็นที่แรกในกลุ่มประเทศแถบยุโรปเนื่องจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับธนาคารกลางจนติดลบ และยังเสริมสภาพคล่องในระบบการเงินด้วยการเข้าซื้อตราสารหนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2014 หลังจากนั้นธนาคารกลางญี่ปุ่นก็เป็นธนาคารกลางอีกแห่งที่ได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนติดลบในปี 2016 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ตราสารหนี้ผลตอบแทนติดลบไม่ได้หมายความว่านักลงทุนจะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ออก แต่ตราสารหนี้เหล่านี้จะมีราคาสูงมากจนดอกเบี้ยที่ได้รับไม่คุ้มกับผลขาดทุนที่เกิดจากส่วนต่างราคาซื้อและมูลค่าหน้าตั๋วที่นักลงทุนจะได้คืนเมื่อถือจนครบกำหนด
ตราสารหนี้ผลตอบแทนติดลบทั่วโลกเคยมีมูลค่ารวมกันสูงถึง 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงเดือนธันวาคมปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่ COVID-19 กำลังระบาดทั่วโลก เศรษฐกิจโลกหดตัวจนธนาคารกลางของแต่ละประเทศต่างดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยลดอัตราดอกเบี้ยตลอดจนการอัดฉีดสภาพคล่องในระบบการเงินด้วยการเข้าซื้อตราสารหนี้ต่างๆ ในตลาด ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ต่ำลงจนติดลบมากขึ้นเรื่อยๆ ตราสารหนี้ผลตอบแทนติดลบจึงมีมูลค่ารวมเพิ่มขึ้น
กว่า 70% ของตราสารหนี้ผลตอบแทนติดลบเป็นพันธบัตรรัฐบาลของประเทศต่างๆ ส่วนอีก 30% ที่เหลือเป็น Government-related bond, Securitized bond และ หุ้นกู้ หากแยกเป็นผู้ออกรายประเทศ กว่า 50% ออกโดยประเทศในกลุ่มยุโรป ส่วนอีก 30% เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยประเทศญี่ปุ่น
มูลค่าตราสารหนี้ผลตอบแทนติดลบทั่วโลกเริ่มลดลงในปี 2021 หลังจากหลายประเทศทั่วโลกเริ่มเปิดเมือง เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจนสามารถขยายตัวได้อย่างร้อนแรง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกโดยเฉพาะในยุโรปปรับตัวสูงขึ้นโดยราคาตราสารหนี้จะต่ำลง เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการขาดทุนจากราคาที่ปรับตัวต่ำลง นักลงทุนต่างขายตราสารหนี้และเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นแทนเพื่อตอบรับเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวจึงเป็นปัจจัยเสริมให้อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ยิ่งสูงขึ้น จากข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2022 ตราสารหนี้ผลตอบแทนติดลบทั่วโลกมีมูลค่ารวมลดลงเหลือเพียง 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ จากที่เคยสูงถึง 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ
ในปีนี้ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากจากที่ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกปรับขึ้นดอกเบี้ยและค่อยๆ ถอนมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์เพื่อเสริมสภาพคล่องในระบบการเงิน ปัจจัยต่างๆ ที่เคยทำให้เกิดตราสารหนี้ผลตอบแทนติดลบกำลังจะหมดไป อีกไม่นานนัก ตราสารหนี้ผลตอบแทนติดลบก็น่าจะกำลัง “สูญพันธ์” ไปในที่สุด
หลังจากนี้อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะเห็นปรากฏการณ์ประหลาดแบบนี้อีก โดยพิจารณาจากนโยบายการเงินแบบตึงตัวจากธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางยุโรปที่คาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 25 bps ในเดือน ก.ค. นี้และจะขึ้นอีกครั้งในเดือน ก.ย.ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายอาจกลับมาเป็นบวกได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2014 นอกจากนี้ยังได้พิจารณาที่จะยกเลิกมาตรการเสริมสภาพคล่องในระบบการเงินภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ และยังคาดการณ์เงินเฟ้อยุโรปปีนี้จะสูงถึง 6.8% จากนั้นจะชะลอตัวลงเหลือ 3.5% และ 2.1% ในปี 2023 และ 2024 ตามลำดับ เราจึงอาจไม่ได้เห็นตราสารหนี้ผลตอบแทนติดลบจากยุโรปไปอีกนาน
ธนาคารกลางญี่ปุ่นเองแม้จะยังไม่มีวี่แววว่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่นักวิเคราะห์หลายสำนักก็เริ่มคาดการณ์ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจต้องเริ่มขึ้นดอกเบี้ยนโยบายบ้างเพื่อไม่ให้อัตราดอกเบี้ยต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆที่นับวันจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพิจารณาจากปัจจัยต่างๆแล้วจึงไม่ง่ายที่จะเกิดตราสารหนี้ผลตอบแทนติดลบอีก จึงน่าบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าครั้งหนึ่งผู้ออกตราสารหนี้เหล่านี้เสมือนกับว่าได้กู้เงินโดยที่ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยแถมยังได้ผลตอบแทนคืนมาอีกด้วย!!
บทความโดย Thaibma : สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย