ACOM หุ้นเทคตัวแรกของไทย จ่อ IPOไตรมาส3

08 ก.ค. 2565 | 11:43 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ค. 2565 | 18:43 น.

ACOM คาดขาย IPO 1,599.64 ล้านหุ้น ในไตรมาส 3 ปีนี้ ยันผู้ถือหุ้นหลักอย่าง DKSH ยังถือหุ้นใหญ่ แถมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจหลักเข้าเวียดนาม มั่นใจศักยภาพเติบโตอีกมาก จากมูลค่าอีคอมเมิร์ซใน SEA จะโต 20% เป็น 1.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 68

หลังได้รับอนุมัติแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ล่าสุด บมจ.เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป หรือ ACOM ผู้นำการให้บริการขับเคลื่อนอีคอมเมิร์ซอย่างครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน(SEA) เตรียมพร้อมเดินหน้าขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับนักลงทุนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เพื่อระดมทุนขยายธุรกิจ พัฒนาแพลตฟอร์มและผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการและขยายฐานลูกค้าที่ใช้บริการเพิ่มขึ้น

 

นางสาวเพ็ญสิริ เสถียรวงศ์นุษา ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประจำประเทศไทย บมจ.เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ปเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด การขายหุ้นน่าจะเกิดขึ้นไตรมาส 3 ปีนี้ แม้ว่าหลายคนจะมองว่า สภาพตลาดไม่เอื้อ แต่เราตื่นเต้น เป็นการแข่งกับเวลา โอกาสในการเติบโต ไม่รอใคร เพราะพฤติกรรมการลูกค้าเปลี่ยนเร็ว โดยจะเห็นว่า ไตรมาส 1 ปี 2565 บริษัทฯ ยังรักษาการเติบโตของรายได้ไว้ได้ 40% แม้จะมีการเปิดประเทศแล้วก็ตาม เพราะฐานลูกค้ากระจาย กลุ่มสินค้าหลากหลาย

นางสาวเพ็ญสิริ เสถียรวงศ์นุษา ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประจำประเทศไทย บมจ.เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป

“ขณะนี้ถือว่า ไทม์ไลน์เราได้ เราเป็นบริษัทคนไทยบริษัทแรกที่เป็นตัวแทนของประเทศไทยในหุ้นเทค (Tech stock) ประเทศอื่นเขามีกันหมดแล้วอย่างสิงคโปร์ และเราก็เป็นหุ้นเทคที่มีการเติบโต ผลประกอบการ แม้จะยังไม่มีกำไรหรือมี P/E ทั่วไป แต่อยากให้มองเทรนด์การพัฒนา เรามั่นใจว่า เราสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกับนักลงทุนได้ ไม่ใช่แค่การเติบโต” นางสาวเพ็ญศิริกล่าว

 

ดังนั้น ACOM จึงเป็นบริษัทฯ แรกที่ขาย IPO โดยที่ยังมีผลขาดทุนสะสม เพราะเป็นเงื่อนไขพิเศษ ที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องการโปรโมทธุรกิจที่เป็นเซ็กเม้นท์ใหม่ ซึ่งเป็นเซ็กเม้นท์เทคโนโลยี เพราะในตลาดหุ้นไทย ยังไม่มีใครที่เป็นตัวแทนเซ็กเม้นท์ตรงนี้ที่เป็น อี-คอมเมิร์สเทคโนโลยี ดังนั้นจึงมีกรณีพิเศษขึ้นมาที่อาจไม่ได้ดูผลกำไรเป็นหลัก แต่ต้องมีทิศทางการเติบโตและการทำกำไร ACOM จึงเป็นหนึ่งในเจ้าแรกที่เป็นตัวแทนของคนไทยของนักลงทุนคนไทย ที่เป็น OMI Chanell Retail

สำหรับการจ่ายเงินปันผล จึงอาจไม่ใช่อนาคตอันใกล้นี้ เพราะบริษัทอยู่ในช่วงการเติบโตหรือ Growth phase จึงอยากนำเงินไปลงทุน พัฒนาแพลตฟอร์มให้ดีขึ้น เพื่อให้สามารถเพิ่มฐานลูกค้า ขยายพอร์ตให้มากกว่านี้ และเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกสามารถเข้ามาใช้แพลตฟอร์มร่วมได้ จะยิ่งขยายฐานไปยังลูกค้าระดับกลาง เอสเอ็มอีหรือแม่แต่บุคคลธรรมดาให้สามารถเข้ามาร่วมขายสินค้าออนไลน์ได้

 

ขณะที่การขาย IPO ครั้งนี้ ACOM จะเสนอขายหุ้นสามัญรวมไม่เกิน 1,599.64 ล้านหุ้น หรือไม่เกิน 35% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท แบ่งเป็น หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทฯ ไม่เกิน 685.56 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1.00 บาท และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป ลิมิเต็ด ไม่เกิน 914.08 ล้านหุ้น

 

นางสาวเพ็ญสิริระบุว่า เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป ลิมิเต็ดที่ร่วมขายหุ้นออกมามี 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นประเภทกองทุน ที่ถือหุ้นมาตั้งแต่แรกๆ ที่จัดตั้งบริษัท อาจจะ 6-7 ปี บางกลุ่มที่มองเรื่อง รีเทิร์น ก็มีการขายออกมาด้วย แต่ในเชิงของกลุ่มผู้ถือหุ้นหลักที่เป็นพันธมิตรเชิงธุรกิจ คือ DKSH ไม่มีการขายหุ้นออก เพราะการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้มองแค่ การทำกำไรในวันแรกที่เข้าตลาด แต่มองถึงศักยภาพการเติบโตในอนาคตที่จะไปได้

 

ทั้งนี้้ข้อมูลจาก Euromonitor ประเมินว่า มูลค่าธุรกรรมอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกในปี 2563 อยู่ที่ 52 พันล้านดอลลาร์สหรัฐและคาดว่า ปี 2568 จะเติบโตขึ้น 20% เพิ่มเป็น 130 พันล้านดอลาร์สหรัฐ ขณะที่ปัจจุบันมาร์เก็ตแชร์ของออนไลน์แค่ 10% เทียบกับจีนที่ออนไลน์มากสุดแล้ว สัดส่วนอยู่ที่ 40% และ Euromonitor ยังคาดการณ์ไว้ว่า ในอีก 2 ปีข้างหน้า มาร์เก็ตแชร์ออนไลน์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปี 2567 จะอยู่ที่ 25% ถือว่ามีศักยภาพการเติบโตอีกมาก แค่เพียงรักษาสัดส่วนการตลาดไว้ ก็สามารถเติบโตโตได้ถึง 5 เท่า

 

ทั้งนี้หลังการขายหุ้น IPO ครั้งนี้ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ACOM ยังเป็น DKSH น่าจะ 20% ซึ่ง DKSH ที่เรารู้จักคือ ดีทแฮล์ม เป็นผู้นำการตลาดด้านสินค้าอุปโภคบริโภค จดทะเบียนในตลาดซูริค สวิตเซอร์แลนด์ และมีแชร์ที่ใหญ่มากในไทย ซึ่งบริษัทฯ บริหารจัดการทุกแบรนด์ของ DKSH ที่เป็นออนไลน์

 

ดังนั้น จึงเป็นเป้าหมายว่า ตลาดต่างประเทศต่อไปที่ ACOM จะเข้าไปนอกเหนือจาก อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์แล้วก็คือ เวียดนาม เพราะ B2C ของ DKSH ใหญ่มาก เขาจะโอนถ่ายลูกค้าเหล่านั้นให้เรา ACOM จึงไม่ได้เข้าไปแบบศูนย์ เวียดนามจะทำให้เราคุ้ม เขามีแบรนด์ 600 กว่า เราทำงานแค่ 40-50 แบรนด์ ในการที่จะขยายพอร์ตยังมีศักยภาพอีกเยอะ

 

นอกจากนั้นภายใต้แพลตฟอร์มและเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว ยังสามารถขยายไปยังเซ็กเม้นต์ใหม่ๆ อย่างยานยนต์ บ้านและสวน ให้เพิ่มเข้ามาในพอร์ตได้อีกมาก ยังไม่รวมกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ในรูปแบบ Software as a Service หรือ SaaS หลังไอพีโอ ซึ่งจะสามารถทำงานได้กับทุกคน

 

หน้าที่ 13  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,798 วันที่ 7 - 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2565