ธอส.ลั่นขึ้นดอกเบี้ยบ้านต.ค. 0.15%-ตรึงยาวถึงม.ค.ปี66พยุงภาคอสังหาฯ

11 ก.ค. 2565 | 10:07 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.ค. 2565 | 17:17 น.

ธอส.ลั่นดีเลย์ขึ้นดอกเบี้ย 3-5เดือนลดผลกระทบผู้มีรายได้น้อย – คาดสิ้นปียอดสินเชื่อใหม่มีโอกาสแตะ 3แสนล้านบทะลุเป้าที่ตั้งไว้ 2.6แสนล้านบาท พร้อมเดินหน้านโยบายเยียวยาลูกค้า-ยอมรับสัญญาณเอ็นพีแอลขาขึ้น

นายฉัตรชัย  ศิริไล  กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวในสัมมนาหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจมัลติมีเดีย  “Property inside 2022 ทางรอดอสังหาฯ” หลังโควิด-ไฟสงคราม หัวข้อ “วิกฤติโควิดสู่ไฟสงคราม   อสังหาฯไทยจะไปทางไหน?

ธอส.ลั่นขึ้นดอกเบี้ยบ้านต.ค. 0.15%-ตรึงยาวถึงม.ค.ปี66พยุงภาคอสังหาฯ

โดยระบุว่า แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นนั้นทั้งธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จึงเป็นการยากที่จะฝืนตลาด  

 

ทั้งนี้ ธอส.ประเมินว่า เฟดและกนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามที่ได้ส่งสัญญาณมาแล้วนั้น โดนในส่วนของธอส.จะไม่เป็นผู้นำในการปรับขึ้นดอกเบี้ยตามกนง.ในทันที  แต่ธอส.จะตรึงระยะเวลา 3-5เดือนในการปรับขึ้นดอกเบี้ยตามกนง.   

 

หากกนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนส.ค.นี้ ธอส.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนต.ค. คือ ยอมรับว่าในระยะต่อไปจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งในแง่ของดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก เพื่อลดผลกระทบทั้งต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้และลดผลกระทบต่อเงินไหลออกด้วย

 

ภายใต้สมมติฐานปีนี้  มองว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 2ครั้งคือในเดือนส.ค. 0.25% และเดือนพ.ย.อีก 0.25% แต่ธอส.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยตามเพียงอัตรา 0.15% และจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งเดือนม.ค.ปี2566

 

ทั้งนี้จากการดำเนินนโยบายตรึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดผลกระทบต่อสมาชิกผู้มีรายได้น้อยดังกล่าว ธอส.จะมีภาระประมาณ 1,000ล้านบาท  แต่ก็ขึ้นอยู่กับกนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแรงกว่านี้หรือไม่อย่างไร

“ อยากให้เชื่อมั่นว่าดอกเบี้ยที่กำลังจะปรับขึ้นเร็วๆนี้   เฟดจะประชุมก.ค. และกนง.กำหนดจะประชุมเดือนส.ค.  โดยภาคการเงินยังอัดฉีดเงิน  โดยเฉพาะธอส.ยังคงทำหน้าที่  ที่สำคัญ คือการดำเนินนโยบายที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย   แม้ว่าผลกระทบจากการต้นทุนแพงขึ้น ทำให้ความสามารถในการใช้จ่าย  ธอส.ยังสามารถเข้าไปช่วยพยุงภาคอสังหาได้  เพียงผู้ประกอบการ  รวมถึงผู้บริโภคต้องปรับตัว เช่นคนที่จะซื้อบ้านอาจจะต้องถอยระดับราคาลงมาตามภาวะเศรษฐกิจ”

 

ปัจจุบันเพิ่งฟื้นไข้จากการแพร่ระบาดของโควิด  แม้จะมีสัญญาณบวก  แต่ผลกระทบจากภัยสงครามได้ส่งผลด้านต้นทุน ทั้งจากพลังงานและอัตราเงินเฟ้อ  ดังนั้นชั่วโมงนี้ทุกคนกังวลดอกเบี้ยขาขึ้น   

แต่หากพิจารณาสถิติย้อนหลังช่วง 10ปี  พบว่าในปี 2558 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเคยอยู่ที่ระดับ 1.50%ต่อปี  ตอนนี้อยู่ที่ 0.50%ต่อปี  โดยมองว่าหากมองย้อนไป 10-20ปีที่ผ่านมาดอกเบี้ยนโยบายของไทยเคยอยู่ในระดับสูงมาก ซึ่งหากดอกเบี้ยจะปรับขึ้นมาอยู่ระดับ 1.25-1.50%ก็น่าจะยังอยู่ในวิสัยจะรับได้

 

นายฉัตรชัยกล่าวว่า  ในส่วนบทบาทของธอส.ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐซึ่งเน้นปล่อยสินเชื่อสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยวงเงินไม่เกิน 1.5ล้าน โดยปีนี้ครึ่งปีแรกมียอดอนุมัติแล้วกว่า 106,231ล้านบาท  คาดว่าสิ้นปีจะสามารถทำได้ประมาณ 2.6แสนล้านบาทหรืออาจจะสูงถึง 3แสนล้านบาท (จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 226,423ล้านบาท) 

 

ทั้งนี้ ธอส.มีเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญอยู่ในระดับสูง 180.02%(สิ้นเดือนมิ.ย.2565)  ขณะที่มียอดสินเชื่อคงค้าง 1.52ล้านล้านบาท  สินทรัพย์เติบโตขึ้น 1.5ล้านล้านบาท  หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล 4.41%เพิ่มขึ้นเล็กน้อยซึ่งเป็นเรื่องปกติจากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 4.0%

 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเอ็นพีแอลนั้น  ในหลักการธอส.ยอมารับเอ็นพีแอลมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้  และยังคงมีการให้ความช่วยเหลือตามมาตรการเยียวยาผลกระทบซึ่งเป็นนโยบายของรัฐ และธอส.มีหน้าที่ทำให้คนไทยมีบ้าน อย่างไรก็ตาม ธอส.เป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับผู้มีรายได้น้อย ขณะเดียวกันต้องบริหารจัดให้มีกำไรเพื่อดูแลลูกค้าเงินฝากด้วย