บสย. เปิดยอดค้ำสินเชื่อ 6 เดือน 9 หมื่น ลบ. ชี้กลุ่มเกษตรยอดค้ำโตสุด

12 ก.ค. 2565 | 07:18 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2565 | 14:27 น.

บสย. เผยยอดค้ำสินเชื่อ 6 เดือนปี 65 กว่า 9.2 หมื่นล้าน ช่วย SME เข้าถึงแหล่งทุนกว่า 6.8 หมื่นราย ชี้กลุ่มเกษตรยอดค้ำโตสุดกว่า 2% ตามการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้าขอคลัง เพิ่มวงเงินทำโครงการ PGS-10 และ ไมโคร 5 รวมอีกกว่า 1.8 แสนล้านบาท

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยผลดำเนินงานค้ำประกันสินเชื่อในรอบ 6 เดือน (1 ม.ค.- 30 มิ.ย. 2565) อนุมัติวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ รวม 92,879 ล้านบาท ช่วย SMEs เข้าถึงแหล่งทุน 68,731 ราย สร้างสินเชื่อในระบบ 102,544 ล้านบาท

 

รักษาการจ้างงานรวม 620,164 ตำแหน่ง และ สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 383,592 ล้านบาท หรือ 4.13 เท่า ขณะที่เป้าหมายค้ำประกันทั้งปีอยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท มั่นใจจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

โดยยอดค้ำประกัน 50%  มาจาก โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs สร้างชาติ (PGS 9) วงเงิน 46,314 ล้านบาท รองลงมา คือ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ พ.ร.ก.ฟื้นฟู สัดส่วน 39% วงเงิน 36,425 ล้านบาท โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. Micro ต้องชนะ (Micro 4) สัดส่วน 5% วงเงิน 4,473 ล้านบาท และ โครงการอื่นๆ สัดส่วน 6% วงเงิน 5,667 ล้านบาท 

 

“กลุ่มธุรกิจเกษตรกรรมมียอดการเติบโตในการค้ำประกันสูงสุด โดยโต 2% นับจากปลายปี 64 คิดเป็นวงเงินค้ำประกัน 11,001 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตที่สอดคล้องกับภาคการส่งออกในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่โตถึง 15%” นายสิทธิกร กล่าว

 

สิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย.

 

ผลดำเนินงานค้ำประกันสินเชื่อในรอบ 6 เดือน (1 ม.ค.- 30 มิ.ย. 2565)

 

ขณะที่ ความคืบหน้าในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs สร้างชาติ (PGS 9) วงเงิน 150,000 ล้านบาท ล่าสุดคงเหลือวงเงินอีก 1.7 หมื่นล้านบาท คาดจะเต็มวงเงินภายในเดือนกันยายนนี้

 

ซึ่งขณะนี้ บสย. ได้ทำเรื่องเสนอไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อขอวงเงินในการทำโครงการ PGS-10 อีก 1.5 แสนล้านบาท และโครงการไมโคร-5 อีก 3 หมื่นล้านบาท

 

ทั้งนี้ ลักษณะโครงการ PGS เป็นการให้การค้ำประกันทั้งพอร์ตสินเชื่อที่เข้าร่วมโครงการของแต่ละสถาบันการเงิน โดยกำหนดให้สถาบันการเงินสามารถเคลมหรือขอชดเชยความเสียหาย จากการปล่อยสินเชื่อแล้วกลายเป็นหนี้เสีย หรือ NPL ได้ถึง 30% - 40% ของสินเชื่อ ซึ่งในส่วนของ SGS-10 จะขอวงเงินเและใช้รูปแบบเดียวกับ PGS-9