ชาเลนเจอร์ แบงก์ คือ Fintech Startup ที่เริ่มต้นขายแค่ผลิตภัณฑ์เดียวก่อน จนเมื่อได้ลูกค้ามาใช้บริการจำนวนมาก จึงออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่ม ทั้งพัฒนาเองหรือร่วมมือกับสตาร์ตอัพอื่นๆ ที่เชี่ยวชาญ จนทำให้ Fintech Startup นั้นๆ มีบริการที่ไม่ต่างจากธนาคารพาณิชย์ โดยไม่ต้องมีสาขาและหาลูกค้าบนออนไลน์ทั้งหมด ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่า
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า ชาเลนเจอร์ แบงก์ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เขย่าวงการธนาคารในระดับโลก เป็นความท้าทายธนาคารแบบปัจจุบัน ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาทำให้ประชาชนเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของธนาคารได้มากขึ้น และยังดึงดูดลูกค้าของธนาคารให้มาใช้บริการชาเลนเจอร์ แบงก์ โดยกำจัดกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อน ให้บริการที่รวดเร็วกว่า ใช้งานง่ายกว่า และสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ตลอดเวลา
วันนี้ธนาคาร กสิกรไทยจึงประกาศโครงการเดินหน้าเชิงกลยุทธ์มูลค่า 1 แสนล้านบาท ในการเร่งลงทุนในเทคโนโลยีต่างๆ การซื้อกิจการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี การผนึกกำลังพาร์ทเนอร์เชิงพาณิชย์ การยกระดับองค์กรไปอีกขั้น รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้ในการขยายโอกาสการเข้าถึงบริการธนาคารให้กับคนไทยและคนที่มีธุรกิจเล็กๆ เป็นของตัวเอง แต่ยังไม่เคยเข้าถึงบริการธนาคารหรืออาจจะเข้าถึง แต่ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ
ปีนี้และอีก 2 ปีข้างหน้า กสิกรไทยจะลงทุน 22,000 ล้านบาทในระบบต่างๆและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มเติมจากที่ลงทุนไปแล้ว 12,700 ล้านบาทในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะปิดดีลซื้อกิจการและความร่วมมือในเชิงพาณิชย์กับกิจการที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี 2-5 ดีลในอีก 12 เดือนข้างหน้า ภายใต้เงินลงทุน 30,000 ล้านบาท
กสิกรไทยยังทดลองนำระบบและขั้นตอนกระบวนการใหม่ๆ มาใช้หลายอย่าง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเดินหน้าโครงการเชิงกลยุทธ์นี้อย่างเต็มกำลัง โดยประชาชนทั่วไปสามารถเปิดบัญชีใหม่ผ่านออนไลน์ได้อย่างครบทุกขั้นตอน ใช้เวลาไม่กี่นาทีสำหรับลูกค้าปัจจุบัน และ 24-72 ชั่วโมง สำหรับลูกค้าใหม่ที่ต้องยืนยันตัวตน ขณะที่ผู้ที่มีบัญชีกับธนาคาร สามารถสมัครขอสินเชื่อบุคคล หากได้รับการอนุมัติ เงินกู้จะถูกโอนเข้าบัญชี ภายในไม่ถึง 30 นาที
“ตอนนี้ กสิกรไทยกำลังมองตัวเองว่า เราเป็นธนาคารที่มีความเป็นชาเลนเจอร์แบงก์แห่งแรกของประเทศ ด้วยการนำเอาดีเอ็นเอของชาเลนเจอร์แบงก์เข้ามาผสานในการให้บริการของเรา เรามุ่งหวังที่จะเป็นธนาคารที่เกื้อหนุน ส่งพลังให้กับคนรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยความสามารถและพลังสร้างสรรค์ ให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์การเงินและคำแนะนำของธนาคารได้มากยิ่งขึ้น” นางสาวขันตติยากล่าว
การพลิกโฉมที่เกิดขึ้นครั้งแรกสำหรับกสิกรไทยคือ การบุกเบิกปล่อยสินเชื่อเฉพาะทางที่เรียกว่า buy-now-pay-later ให้กับผู้ที่ทำงานอิสระ หรือ ไม่มีเอกสารยืนยันรายได้ โดยจะพิจารณาอนุมัติจากข้อมูลอื่นๆ แทน โดยหลายเดือนที่ผ่านมาได้อนุมัติสินเชื่อเฉลี่ย 1,600 รายต่อวัน มีวงเงินสินเชื่อเฉลี่ย 1,500 บาทสูงสุด 20,000 บาท ในบางราย และยังนำร่องทดลองวิธีการต่างๆ ที่จะทำให้การขอสินเชื่อเป็นธรรมมากขึ้นสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กๆ
ธนาคารยังได้ร่วมมือกับแอปพลิเคชั่น LINE เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้คนในวงกว้างมากขึ้นให้สามารถเข้าถึงเงินกู้ได้ แม้ไม่มีเอกสารประกอบการสมัคร เช่น เอกสารแสดงรายได้ และเป็นธนาคารเดียวในประเทศที่ให้บริการธนาคารผ่านโชเชียลมีเดีย แม้ไม่มีบัญชีธนาคาร แต่ LINE BK เปิดโอกาสให้สมัครขอสินเชื่อได้ โดยรู้ผลอนุมัติภายใน 24 ชั่วโมง ขณะที่ผู้ที่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารกสิกรไทย จะรู้ผลการอนุมัติได้ในเวลาไม่ถึง 5 นาที
จากฐานข้อมูลปัจจุบันพบว่า จำนวนผู้ขอสินเชื่อผ่านบริการ LINE BK ในแอปพลิเคชั่น LINE ทั้งหมด มีถึง 1 ใน 3 เป็นผู้ที่เพิ่งเคยได้รับเงินกู้จากธนาคารเป็นครั้งแรกในชีวิตและเกือบครึ่งเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ประมาณครึ่งหนึ่งมีรายได้ไม่ถึง 15,000 บาทต่อเดือนและเกือบ 80% อาศัยอยู่ในต่างจังหวัด
“เราคาดว่า ภายในสิ้นปีนี้จะช่วยคนอีกถึง 200,000 คน ผ่านบริการ LINE BK ให้ได้รับสินเชื่อครั้งแรกจากธนาคาร และคาดว่า จะมีลูกค้ารายย่อยรวมถึงธุรกิจขนาดเล็กได้รับสินเชื่อกว่า 600,000 ราย รวมวงเงิน 20,000 ล้านบาท ซึ่งหวังว่าจะช่วยให้หลายคนหลุดพ้นจากวงจรหนี้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยแพงถึงปีละมากกว่า 200%” นางสาวขัตติยากล่าว
ธนาคารยังอยู่ระหว่างการเจรจากับกลุ่มค้าปลีก เพื่อนำเสนอช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อธุรกิจขนาดย่อมให้กับผู้ประกอบการร้านค้าปลีกขนาดเล็กของครอบครัวในต่างจังหวัด โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน และตั้งเป้าจะปล่อยสินเชื่อรายย่อยของลูกค้าของร้านค้าดังกล่าว ด้วยวิธีการประเมินความน่าเชื่อถือในการขอสินเชื่อแบบใหม่ที่ต่างไปจากเดิม และการทำให้ขั้นตอนต่างๆ เรียบง่ายขึ้น จึงคาดว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้มากกว่าพันๆ ร้านค้าผ่านเครือข่ายพันธมิตรภายในปีนี้
ดังนั้นจึงถือเป็นอีกก้าวสำคัญของกสิกรไทยในการมุ่งหวังเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีคือ การพลิกโฉมการธนาคารในประเทศไทยให้สามารถช่วยผู้คนให้เข้ามาอยู่ในระบบธนาคาร และให้ได้รับประโยชน์จากผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ของธนาคาร
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,800 วันที่ 14 - 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2565