ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยผลสำรวจ ดัชนีรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ (หมวดที่อยู่อาศัย) ของประเทศไทย ในภาพรวมไตรมาส 1 ปี 2565 มีค่าดัชนีเท่ากับ 86.8 เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ร้อยละ 10.4
และเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางเดียวกันกับเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 1 ปี 2565 ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2
การเพิ่มขึ้นของ ดัชนีรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ (หมวดที่อยู่อาศัย) แสดงให้เห็นถึงสัญญาณการฟื้นตัวของทั้งด้านอุปสงค์ และอุปทานของตลาดที่อยู่อาศัย โดยด้านอุปสงค์หรือความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น
โดยสะท้อนผ่านอัตราดูดซับของโครงการสำรวจที่อยู่อาศัยใน ไตรมาส 1 ปี 2565 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอาคารชุดที่มีอัตราดูดซับสูงขึ้นเป็นร้อยละ 7.6 ต่อเดือน เพิ่มจากครึ่งหลังปี 2564 ที่ร้อยละ 3.3 ต่อเดือน ขณะที่อัตราดูดซับบ้านจัดสรรอยู่ที่ร้อยละ 3.1 ต่อเดือน เพิ่มจากครึ่งหลังปี 2564 ที่ร้อยละ 2.4 ต่อเดือน
ในด้านอุปทานในไตรมาส 1 ปี 2565 เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยผู้ประกอบการมีการเปิดตัวโครงการใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 207.9 โดยโครงการอาคารชุดเพิ่มขึ้นร้อยละ 378.3 และแนวราบเพิ่มขึ้นร้อยละ 89.6
ดร.วิชัย ยังกล่าวถึงแนวโน้มในครึ่งปีหลัง 65 โดยระบุว่า ตลาดยังมีโอกาสฟื้นตัวต่อเนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีอยู่ คือ การลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และการจดจำนองสำหรับที่อยู่อาศัยที่ไม่เกิน 3 ล้านบาทและครอบคลุมไปถึงบ้านมือสอง และการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีประกาศผ่อนคลายมาตรการ LTV ชั่วคราว รวมถึงการฟื้นตัวเศรษฐกิจจากการเปิดประเทศ
โดย คาดว่าจะมีโอกาสที่จะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 9.1 (Base Case) หากรัฐบาลมีการออกมาตรการเสริมที่สามารถช่วยเพิ่มความสามารถในการซื้อและปลุกความเชื่อมั่นผู้ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย ก็จะช่วย กระตุ้นการเติบโตของตลาดที่อยู่อาศัยทำให้ดัชนีรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ (หมวดที่อยู่อาศัย) ขยายตัวได้ถึง ร้อยละ 14.7 (Best Case)
อย่างไรก็ตาม หากตลาดที่อยู่อาศัยต้องเจอกับสถานการณ์ภาวะเงินเฟ้อสูงต่อเนื่องจากเดือน พฤษภาคม 2565 และอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นไม่เกิน 50 bps ก็อาจทำให้ดัชนีรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ (หมวดที่อยู่อาศัย) มีอัตราขยายตัวประมาณร้อยละ 3.5 (Worst Case) แต่ถ้าภาวะเงินเฟ้อสูง และอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ก็จะส่งผลให้อัตราขยายตัวลดลงมากกว่า Worst Case ได้