ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 30,630.17 จุด ลดลง 142.62 จุด หรือ -0.46%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,790.38 จุด ลดลง 11.40 จุด หรือ -0.30% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,251.19 จุด เพิ่มขึ้น 3.60 จุด หรือ +0.03%
เจพีมอร์แกน เชส ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐเมื่อพิจารณาจากมูลค่าสินทรัพย์ เปิดเผยว่า ธนาคารมีกำไรในไตรมาส 2 ลดลง 28% สู่ระดับ 8.6 พันล้านดอลลาร์ หรือ 2.76 ดอลลาร์/หุ้น ซึ่งต่ำกว่าระดับ 1.19 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 3.78 ดอลลาร์/หุ้นในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากธนาคารต้องกันสำรองหนี้สูญจำนวน 428 ล้านดอลลาร์
ส่วนธนาคารมอร์แกน สแตยลีย์เปิดเผยว่า กำไรในไตรมาส 2 อยู่ที่ 2.4 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1.39 ดอลลาร์/หุ้น ซึ่งต่ำกว่าระดับ 3.4 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1.85 ดอลลาร์/หุ้นในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยได้รับผลกระทบจากรายได้ที่อ่อนแอในธุรกิจวาณิชธนกิจ
ผลประกอบการที่น่าผิดหวังของธนาคารทั้งสองแห่งได้ฉุดหุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลง โดยหุ้นเจพีมอร์แกน ดิ่งลง 3.49% หุ้นมอร์แกน สแตนลีย์ ปรับตัวลง 0.39% หุ้นซิตี้กรุ๊ป ร่วงลง 3.01% หุ้นเวลส์ ฟาร์โก ลดลง 0.84% หุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา ร่วงลง 2.3% หุ้นโกลด์แมน แซคส์ ดิ่งลง 3.05%
หุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มวัสดุร่วงลงเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอย โดยหุ้นไดมอนด์แบค เอนเนอร์จี ร่วงลง 3.51% หุ้นฮัลลเบอร์ตัน ดิ่งลง 3.39% หุ้นอีโอจี รีซอสเซส ร่วงลง 4.21% หุ้นเอ็กซอน โมบิล ลดลง 2% หุ้นเชฟรอน ลดลง 1.48% หุ้นฟรีพอร์ท-แมคมอแรน ร่วงลง 4.56% หุ้นยูเอส สตีล คอร์ป ร่วงลง 4.04%
นอกจากนี้ บรรยากาศการซื้อขายยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลที่ว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงถึง 1% ในการประชุมเดือนนี้ หลังจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมิ.ย.ของสหรัฐพุ่งขึ้น 9.1% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี โดยดัชนี CPI เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค
อย่างไรก็ดี ดัชนี Nasdaq ปิดในแดนบวก โดยได้ปัจจัยหนุนจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและผู้ผลิตชิป โดยหุ้นแอปเปิล พุ่งขึ้น 2.05% หุ้นไมโครซอฟท์ บวก 0.54% หุ้นอินวิเดีย พุ่งขึ้น 1.37% หุ้นแอดวานซ์ ไมโคร ดิไวซ์ (AMD) บวก 1.39% หุ้นอินเทล พุ่งขึ้น 1.34% หุ้นไอบีเอ็ม ดีดขึ้น 1.4%
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการรายงานล่าสุด กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 9,000 ราย สู่ระดับ 244,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2564 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 234,000 ราย
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต เพิ่มขึ้น 1.1% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.8% หลังจากปรับตัวขึ้น 0.9% ในเดือนพ.ค.