ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า จะเข้ามาซ้ำเติมหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นจุดเปราะบางดึงให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่วัฏจักรเศรษฐกิจขาลงยาวนาน เนื่องจากภาระหนี้ที่จะปรับสูงขึ้นตามทิศทางดอกเบี้ย ทำให้การบริโภคเติบโตช้าลง
ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รายงานเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน สิ้นไตรมาส 1/2565 พบว่า มีทั้งสิ้น 14.64 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 80,076 ล้านบาท จากไตรมาส 4/2564 ที่มียอดคงค้างทั้งสิ้น 14.57 ล้านล้านบาท แต่เมื่อเทียบสัดส่วนสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่อ GDP ชะลอลงจาก 90.0% ในไตรมาส 4/2564 เหลือ 89.2%
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงสร้างหนี้ครัวเรือนทั้งสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต ซึ่งเป็นสินเชื่ออุปโภคบริโภคจะไม่ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยปรับขึ้น เพราะ ธปท.กำหนดเพดานดอกเบี้ยไว้แล้ว
แต่สินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อบ้าน โดยเฉพาะผู้ซื้อรายใหม่ซึ่งเป็นจังหวะที่ดอกเบี้ยในตลาดปรับขึ้นแล้วมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะถูกกระทบ โดยเฉพาะผู้กู้ที่มีรายได้ขึ้นลงไม่แน่นอน ย่อมกระทบต่อความสามารถในการผ่อนชำระต่องวดได้
ขณะที่สินเชื่อบ้านที่คิดดอกเบี้ยคงที่ เมื่อครบกำหนดไม่ว่า อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี(MLR) อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) หาก MLR /MRR ปรับสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่วนนี้ผู้กู้ย่อมได้รับผลกระทบจากมูลค่าการผ่อนชำระต่องวดที่เพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยลอยตัว
นอกจากนั้นผู้กู้ซื้อบ้านอาจต้องบริหารจัดการเพิ่มด้วยการรีไฟแนนซ์ไปยังสถาบันการเงินอื่น แต่ต้องพิจารณาเรื่องภาระหรืออัตราการผ่อนระยะยาวที่ชัดเจน รวมถึงสินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจ อาจได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยโดยตรงมากที่สุด เนื่องจากปัจจุบันครัวเรือนบางส่วนใช้สินเชื่อทำธุรกิจอาจจะมีปัญหา มีความยากลำบากในการจ่ายหนี้ครัวเรือนในระยะข้างหน้าถ้าดอกเบี้ยปรับขึ้นในปีหน้า
“ปีนี้ธปท.คงปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้งหรืออาจจะ 2 ครั้งรวม 0.50% แต่ดอกเบี้ยเงินกู้ในตลาดยังไม่ชัดเจน แต่ถ้า ธปท. ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ทั้งดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากจะขยับขึ้นตามในปีหน้า สิ่งที่ต้องดูต่อไปคือ ถ้ามีการปรับขึ้นรายได้ขั้นต่ำ จะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องการจ่ายหนี้ของครัวเรือนได้บ้าง” นายพชรพจน์กล่าว
ส่วนทางออกหลักในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนจำเป็นต้องได้รับการจัดการ ทั้งมาตรการช่วยเหลือการลดภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของภาคครัวเรือน เพื่อให้ภาคครัวเรือนยังสามารถไปต่อได้ และมาตรการลดภาระหนี้ภาคครัวเรือน ด้วยมาตรการปรับโครงสร้างหนี้หรือการรวมหนี้ เพื่อทำให้ภาระการผ่อนชำระหนี้ของครัวเรือนลดลง
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีที่ย่อลงจาก 90.0% เหลือ 89.2% เป็นผลจากจีดีพี ณ ราคาประจำปี หรือ Norminal GDP มีแนวโน้มเติบโตสูงจากผลของภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น แต่ยอดหนี้ครัวเรือนยังคงเพิ่มขึ้น นับเป็นโจทย์กดดันครัวเรือน เพราะด้านหนึ่งที่เจอปัญหาค่าครองชีพหรือรายได้ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ แต่ยังต้องแบกรับภาระหนี้เดิมไว้ ท่ามกลางทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นและเงินเฟ้อ
ทั้งนี้หากพิจารณาไส้ในหนี้ครัวเรือนไตรมาส 1/65 พบว่า สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลในสัดส่วน 76.2% และสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพและอื่นๆ 23.8% โดยสินเชื่อสัดส่วน 76.2% นั้น ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อบ้าน 34.6% รองลงมา เพื่อกินเพื่อใช้ 27.7% เพื่อการเช่าซื้อ 12.2% เพื่อการศึกษา 1.7%
“ความกังวลส่วนใหญ่คือ สินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพื่อกินเพื่อใช้ ในประจำวันที่เป็นหนี้ใช้แล้วหมดไป 27.7% ซึ่งเป็นประเด็นและยังขยับสูงขึ้น หากตัดสินเชื่อเพื่อบ้านและเช่าซื้อรถออก” นางสาวกาญจนากล่าว
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ครัวเรือนหลายกลุ่มเริ่มคิดมากขึ้นจะก่อหนี้เพิ่ม แต่มีข้อจำกัด ทั้งหนี้เดิมที่ยังคงแบกอยู่ หากเป็นการกู้สินเชื่อใหม่ที่มีสัญญาระยะยาว โอกาสเพิ่มภาระจากดอกเบี้ยขาขึ้นอีกและสถาบันการเงินภาพรวมระมัดระวังลูกค้าที่มีความเสี่ยงด้วย
ส่วนแนวโน้มช่วงที่เหลือของปี 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หนี้ครัวเรือนน่าจะหลุดกรอบล่างเดิมที่คาดไว้ที่ 86.5-88.5% ด้วยปัจจัยเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยหนี้ครัวเรือนยังเป็นไฮไลต์ในการแก้ไขปัญหาของระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ทั่วถึง และครัวเรือนมีรายได้เติบโตไม่ทันค่าครองชีพหรือรายจ่ายจากปัจจัยเงินเฟ้อ
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,801 วันที่ 17 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2565