“สยามพิวรรธน์” ออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ ดอกเบี้ยสูงสุด 5.50%

18 ก.ค. 2565 | 06:51 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ค. 2565 | 17:15 น.

“สยามพิวรรธน์ เดินหน้าธุรกิจสู่อนาคต เตรียมออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ หรือ Perpetual Bond ดอกเบี้ย 5 ปีแรก อยู่ในช่วง 5.25%-5.50% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน นำเงินที่ได้มาชำระค่าสิทธิการเช่าที่ดิน พร้อมปรับปรุงศูนย์การค้าทั้งหมด สริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ

นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์เปิดเผยว่า สยามพิวรรธน์ เตรียมเสนอขายหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2565 เป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (Perpetual Bond) ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท หรือ หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์  ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนด และมีสิทธิเลื่อนชำระดอกเบี้ยโดย ไม่มีเงื่อนไขใด โดยไม่กำหนดอายุ แต่ผู้ออกหุ้นกู้สามารถไถ่ถอนหุ้นกู้เมื่อครบกำหนด 5 ปีเป็นต้นไป

“สยามพิวรรธน์” ออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ ดอกเบี้ยสูงสุด 5.50%

หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ดังกล่าว มีอัตราดอกเบี้ยช่วง 5 ปีแรกที่ 5.25%-5.50% ต่อปี จากนั้นจะปรับอัตราดอกเบี้ยทุก ๆ 5 ปี อ้างอิงจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี กำหนดจ่ายดอกเบี้ยทุก ๆ 3 เดือน เสนอขายแก่ผู้ลงทุนสถาบันและ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ จองซื้อขั้นต่ำ 1 ล้านบาท และทวีคูณของ 1 ล้านบาท คาดว่าจะเสนอขายในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคมนี้

สำหรับอันดับเครดิตของบริษัทฯ อยู่ที่ “A-” แนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่” (Stable) ขณะที่หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์นี้ ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ “BBB” แนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่” (Stable) จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นเครดิตเรทติ้งระดับ Investment Grade สะท้อนถึงความน่าเชื่อถือและศักยภาพความแข็งแกร่งของกลุ่มสยามพิวรรธน์ ที่เป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีกชั้นนำระดับโลก 

“สยามพิวรรธน์” ออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ ดอกเบี้ยสูงสุด 5.50%

การระดมทุนครั้งนี้ สยามพิวรรธน์มีแผนที่จะใช้ในการชำระค่าสิทธิการเช่าที่ดิน และใช้ปรับปรุงศูนย์การค้าทั้งหมด เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจหลักตอบสนองต่อการใช้ชีวิตวิถีใหม่สู่อนาคต รวมทั้งขยายธุรกิจสู่ New Economy ในหลายประเภท ตลอดจนการสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มเชื่อมธุรกิจหลักกับการทำธุรกิจใหม่ๆ ร่วมกับพันธมิตรใน Ecosystem ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของสยามพิวรรธน์ในการบริหารธุรกิจศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน และอาคารที่อยู่อาศัย ทำให้บริษัทมีแผนที่จะขยายธุรกิจด้านการบริหารอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติมในอีก 1-3 ปีข้างหน้าอีกด้วย     

“สยามพิวรรธน์” ออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ ดอกเบี้ยสูงสุด 5.50%

ปัจจุบัน สยามพิวรรธน์ มีบริษัทในเครือ 47 บริษัท ดำเนินธุรกิจครอบคลุม 7 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย 

  1. ธุรกิจศูนย์การค้าอาคารสำนักงาน โดยมุ่งพัฒนาโครงการระดับโลกที่เป็นที่สุดแห่งความเป็นเลิศทั้งด้านการออกแบบ ก่อสร้าง และการบริหารจัดการ ได้แก่ สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ อาคารสยามพิวรรธน์ทาวเวอร์ สยามพารากอน ไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยมเอาท์เล็ต กรุงเทพ 
  2. ธุรกิจห้างสรรพสินค้า ด้วยการร่วมทุนกับบริษัทในประเทศและต่างประเทศที่มีประสบการณ์ เพื่อดำเนินงานธุรกิจห้างสรรพสินค้าพารากอนในสยามพารากอน และ สยามทาคาชิมายะ ณ ไอคอนสยาม ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนกับ ‘ทาคาชิมายะ’ ห้างสรรพสินค้าระดับพรีเมี่ยมจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อเปิดห้างสรรพสินค้า ทาคาชิมายะแห่งแรกในประเทศไทย 
  3. ธุรกิจศูนย์การประชุมและศูนย์แสดงนิทรรศการ ได้แก่ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ที่ได้รับความนิยมเป็นสถานที่จัดงานสำคัญของภาครัฐและบรรดาธุรกิจไทย รวมทั้ง ทรู ไอคอน ฮอลล์ ณ ไอคอนสยาม ซึ่งทั้งสองแห่งเป็นสถานที่ระดับแนวหน้าของผู้นำในอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ของประเทศไทย
  4. ธุรกิจดิจิทัล แพลตฟอร์ม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และการขยายตัวทางธุรกิจด้านดิจิทัล บริษัทได้พัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของการดำเนินธุรกิจ โดยเมื่อปลายปี 2564 ได้เปิดตัว ONESIAM SuperApp ดิจิทัลแพลตฟอร์มใหม่ล่าสุด ที่เชื่อมธุรกิจออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกัน 
  5. ธุรกิจบริหารจัดการอาคาร รับดำเนินงานบริหารจัดการอาคารประเภท Mix Used Complex ทั้งศูนย์การค้า อาคารสำนักงานและที่อยู่อาศัย ดำเนินงานโดยทีมงานมืออาชีพ มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการอาคาร
  6. การสื่อสารการตลาด เพื่อบริหารจัดการด้านการตลาดอย่างครบวงจรให้แก่ร้านค้าและโครงการอสังหาริมทรัพย์ในเครือ 
  7. ธุรกิจค้าปลีก เพื่อยกระดับและพัฒนาศักยภาพของ SME ในเมืองสุขสยาม และร้านไอคอนคราฟต์ รวมถึงร้านค้าปลีกภายใต้แบรนด์อื่น ๆ ของกลุ่มบริษัทฯ มุ่งสนับสนุนผู้ประกอบการไทยรายย่อยรวมทั้งผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสให้ได้มีสถานที่จำหน่ายสินค้าชั้นนำของท้องถิ่นที่ผลิตจากจากชุมชน 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย และได้ขยายธุรกิจนี้ให้เป็นรูปแบบ Franchise ในต่างประเทศ เพื่อนำสินค้าไทยไปจำหน่ายให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย 

 

"ความสามารถในการรักษาตำแหน่งทางการตลาด วิสัยทัศน์ในการสร้างเอกลักษณ์ที่แตกต่างในวงการศูนย์การค้าและค้าปลีก ทำให้สยามพิวรรธน์มีความแข็งแกร่งทั้งด้านสถานะทางการตลาด และฐานะการเงิน บริษัทมีนโยบายเข้มงวดในการรักษาระดับอัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นให้อยู่ในระดับต่ำ โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 อยู่ที่ 0.99 เท่า"นางชฎาทิพกล่าว