นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมธนาคาร ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ทั้งความเปราะบาง หนี้ครัวเรือนสูง เงินเฟ้อสูง
จึงเป็นความท้าทายต่อเนื่อง และยาว เนื่องจากหลังออกจากการระบาดของโควิด ต้องเจอกับอีกวิกฤตหนึ่ง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นย่อมส่งผลกระทบกับลูกหนี้ของธนาคารและกิจกรรมของธนาคาร
"ช่วงนี้ธนาคารในระบบอยู่ในช่วงประคองและสร้าง เพราะแม้ว่าระบบแบงก์จะมีฐานะที่แข็งแรง แต่ต้องประคองลูกหนี้ให้ดี เพราะหากเมื่อไรที่จะเกิดสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอยหรือดอกเบี้ยปรับขึ้น ซึ่งทางการเองพยายามจะSoft Landing อยู่แล้ว แต่ในกระบวนการต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนผ่านจะเกิดการสะเท้อนต่อผู้ประกอบการและระบบธนาคารพอสมควร"
ประธานสมาคมธนาคารกล่าวเพิ่มเติมว่าภายใต้อัตราเงินเฟ้อที่เป็นปัจจัยอ่อนไหวกับผู้มีรายได้น้อย จึงเป็นภาวะที่ต้องประคองลูกหนี้และธุรกิจต่อเนื่อง
ซึ่งต้องเข้าใจว่าภาคธนาคารประคองลูกหนี้มาแล้วรอบหนึ่งในช่วงการระบาดของโควิด เมื่อมีความหวังว่าจะฟื้น หลังออกจากโควิด แต่กลับมาเจอพายุอีกระลอก เพราะฉะนั้นการประคองต้องต่อเนื่องและยาวขึ้น ซึ่งต้องระมัดระวัง
ต่อข้อถามถึงสถานะลูกหนี้ 2ล้านรายที่อยู่หน้าผาเอ็นพีแอลหรือ NPL Cliff นั้น นายผยงกล่าวว่า สถานะของลูกหนี้กลุ่มนี้มีทั้งดีขึ้นบ้างและไหลเป็นหนี้จัดชั้น แต่เมื่อพายุลูกใหม่มาจะต้องประคองกันต่อไป แต่โดยภาพรวมยังคงมีความเสี่ยงอยู่ เพราะหากพิจารณาจากหนี้ Stage3 กับ Stage2ของทั้งระบบในไตรมาส1ที่ผ่านมา รวมกันเกือบ 10% (Stage3 สัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.9%และStage2อยู่ที่ 6.09%) ซึ่งตัวเลขนี้ก็ต้องเฝ้าระวัง ส่วนหนี้ที่อยู่ Stage1 อยู่แล้วบางรายเกิดจากมาตรการฟ้าส้ม หรือมาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืนซึ่งมีหลายขยัก คือ ทั้งความเปราะบาง และโอกาสยังมีอยู่ ซึ่งปีนี้จะมีบางคนที่กลับมาได้ ขณะเดียวกันต้องพยายามประคอง ยืดออกไปอีก
“ เรากำลังคุยกันอยู่ เพราะมาตรการของธปท.มีให้เป็นเครื่องมือ ซึ่งถือว่าเครื่องมือมีครบ แต่ในการนำไปใช้ต่อเนื่องขึ้น แบงก์ชาติจะผ่อนคันเร่ง หมายถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะมีผลกับกลุ่มลูกหนี้ที่เปราะบางแน่นอน และในระบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะติดตามเรื่องการชะลอผ่อนคันเร่ง ซึ่งต้องเน้นการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ภาระหนี้ที่จะต้องผ่อนชำระสอดคล้องกับรายได้และรายจ่าย เพราะต้นทุนที่สูงในช่วงเวลาดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น”
ขณะเดียวกันในมุมของธนาคารกรุงไทย ยังคงเฝ้าระมัดระวังหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)และมีทางเลือกภายใต้มาตรการช่วยเหลือต่างๆตามความเหมาะสมโดยจะไม่เหวี่ยงแห
ต่อข้อถามถึงข้อเรียกร้องต่อกระทรวงการคลัง กรณีถ้า ธปท.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอาจจะขอให้ธนาคารชะลอการปรับดอกเบี้ยไม่ให้เร็วเกินไป เพราะห่วงว่าจะกระทบลูกหนี้นั้น
นายผยงกล่าวว่า ต้องดูเป็นระบบ หากกลไกการตลาดทำงาน การไปฝืนกลไกตลาดก็จะมีความบอบซ้ำของระบบในบางส่วน ซึ่งจุดนี้จะต้องดูว่าจะทำอย่างไรเพื่อที่จะประคองไม่ให้เกิดความบอบช้ำในระบบ เช่นเดียวกับการไปฝืนในช่วงน้ำท่วมจะหมุดใต้ดินน้ำก็ท่วมอยู่ดี
กรณีในอนาคตหากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ธนาคารในระบบมีกันชนที่พอเพียง โดยธนาคารพาณิชย์ออกตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่1 (AT1) ในหลายธนาคาร ซึ่งเพิ่มเติมจากที่ได้สะสมเงินกองทุนมาตั้งแต่ต้มยำกุ้ง บวกกับ อัตราการสำรองต่อหนี้เสีย (NPL Coverage Ratio) ของระบบธนาคารพาณิชย์ก็อยู่ในระดับสูงมาก และอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งหมดต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Capital Adequacy Ratio: CAR) อยู่ในระดับที่สูง สภาพคล่องก็ไม่ได้เป็นประเด็น
สำหรับกรณีธปท.ยกเลิกการลดวงเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ซึ่งในปีหน้าธนาคารต้องนำส่งFIDFเป็นอัตราเดิมที่ 0.46% นั้นประธานสมาคมธนาคารไทยระบุว่า โดยภาพรวมเมื่อเป็นต้นทุนพื้นฐานของระบบซึ่งไม่สามารถจะไปฝืน เป็นแต่เพียงจะประคองให้ช้าหรือเร็ว จังหวะที่ให้มีผลกระทบน้อยที่สุดซึ่งการจัดเก็บเงินนำส่งFIFDในอัตรา 0.47% ที่เป็นต้นทุนก็ได้มีการพูดคุย