ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) แพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลรายใหญ่ ประกาศระงับการฝากถอนเงินบาทและคริปโต เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2565 สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้ลงทุนรวมทั้งภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แม้ผู้บริหารจะออกมาแถลงการณ์ชี้แจงปัญหาและแนวทางดำเนินการแก้ไขในเบื้องต้น แต่คาดว่าความเสียหายจากเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 5,500 ล้านบาท
ต่อไปนี้เป็น ย้อนรอยเส้นทางของปัญหา ที่นำมาสู่เหตุการณ์วานนี้
กฎหมายของ ก.ล.ต ควบคุม ZipUp หรือไม่? มีความผิดไหม?
ZipUp หรือ Z Wallet ทำหน้าที่เป็นช่องทางที่ทำให้ Zipmex สามารถโอนเงินไปฝากไว้กับ Zipmex Global ซึ่งเงินเหล่านี้ที่ฝากเข้าไปจะไม่ได้ผ่านกฎหมายควบคุมจาก ก.ล.ต. ไทย เนื่องจากได้ถูกโอนไปเป็น ‘สินทรัพย์ดิจิทัลนอกประเทศ’ เรียบร้อยแล้ว
แต่ในกรณีนี้ยังมีลูกค้าของ Zipmex ได้ออกมาแย้งและส่งอีเมล์ไปถึง ก.ล.ต. เรื่องข้อตกลงที่ทาง Zipmex เคยได้กำหนดไว้ ฉบับวันที่ 15 กันยายน 2021 ที่ระบุว่า ผู้ให้บริการจะไม่ต้องรับผิดชอบหากการสูญเสียทรัพย์สินดิจิทัลเกิดจาก
และยังได้ระบุในข้อตกลงด้วยว่า ‘เมื่อคุณโอนเข้าสู่แพลตฟอร์ม กรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ ไม่ว่าจะเป็นซื้อขายเทรดจะตกเป็นของแพลตฟอร์ม’
ซึ่งหากเราอ่านข้อตกลงเหล่านี้เชื่อว่านักลงทุนหลายคนจะไม่กด ‘ตกลง’ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงมาก แต่เนื่องจากการติดต่อของลูกค้ารายนั้น ทำให้ ก.ล.ต. ได้ส่งเรื่องให้ทาง Zipmex แก้ไขเรียบร้อยแล้ว
ดังนั้น ด้วยข้อตกลงเหล่านี้ ZipUp หรือ Z Wallet จึงสามารถนำเงินเหล่านั้นไปฝากต่อให้ Zipmex Global และนำไปฝากต่อกับคู่ค้าหรือสถาบันการเงินอื่นๆได้
ดร.ณปภัช ปิยไชยกุล (Dr.Big) ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ Suthichai Podcast และวิเคราะห์ไว้ว่า ทำไม? Zipmex ต้องปิดระงับการถอนในวันที่ 20 ก.ค “Zipmex ต้องประกาศหยุดถอนในวันนี้เพราะเดดไลน์ในการลงทะเบียนฟ้องร้อง Celsius เป็นวันสุดท้าย เพื่อป้องกันไม่ให้คนเข้าใจว่า Zipmex เกี่ยวข้องด้วย และแห่ถอนเงินใน Zipmex ทั้งหมด”
มูลค่าเสียหายที่คาดการณ์รวมคือราว 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย เว็บไซต์ชื่อดัง Cointelegraph พูดถึงผู้ไม่ประสงค์ออกนามที่อ้างว่า Zipmex Global ได้นำเงินไปลงทุนกับ Celsius และ Babels เป็นจำนวนเงินรวม 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5,500 ล้านบาท
(อ่านเพิ่มเติม:"เซลเซียสฯ" บิ๊กปล่อยกู้คริปโต ยื่นล้มละลายตามรอย “วอยเอเจอร์ ดิจิทัล” )
ดร.ณปภัช ปิยไชยกุล ยังได้ตั้งคำถามใน LIVE ว่า “เวลาซื้อเหรียญดิจิทัลไป Exchange ได้เก็บเหรียญนั้นไว้อยู่หรือเปล่า หรือมีเพียงแต่ในระบบ เมื่อต้องการถอนและหากมันไม่มี และจะพิสูจน์ได้อย่างไร” ซึ่ง ก.ล.ต. ต้องเข้ามาดูในส่วนนี้ และป้องกันรูปแบบที่คล้ายกับ ZipUp ที่ยังไม่มีกฎหมาย ก.ล.ต. ควบคุม
ประเด็นคำถามที่ตามมาคือข้อสงสัยที่หลายคนสับสนว่า ก.ล.ต. ถือว่าการกระทำแบบนี้ ‘ผิดกฎหมาย’ หรือไม่ ในกรณีนำสินทรัพย์ดิจิทัลของนักลงทุนไทย ไปปล่อยกู้หรือใช้ในวัตถุประสงค์อื่นๆ
ซึ่งถึงแม้เราจะกด “ตกลง” ในการสมัครไปเรียบร้อยแล้ว ยังคงต้องเฝ้าติดตาม ก.ล.ต. ว่าตามกฎหมายจะมีผลหรือไม่ เพราะจริงแล้ว ก.ล.ต.อนุญาตให้ Exchange ไทยสามารถใช้ผู้ดูแลรับฝากทรัพย์สิน (Custodian) ได้ แต่ไม่อนุญาตให้นำสินทรัพย์ไปทำอย่างอื่น
แต่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาลูกค้า ZipUp จะได้รับอีเมล์ที่แจ้งนโยบายว่า ZipUp นั้นจะถูกย้ายไปอยู่ภายใต้ Zipmex Asia ซึ่งไม่ใช่บริษัทที่ถูกกำกับโดยก.ล.ต. ทำให้สามารถเอาเงินลูกค้าไปปล่อยกู้ได้ และนั่นมีการคาดการณ์ว่าคือ ‘Celsius’
ล่าสุดราคา ZIPMEX ร่วงลงกว่า 33% โดยทันทีหลังแถลงการณ์ค่ำวานนี้ และเมื่อเปิดให้ฝากถอนผ่าน Trade Wallet ได้ คาดว่าผู้คนจะแห่ขาย Zipmex Token (ZMT) อย่างหนัก โดย ณ เวลา 22:08 น ของวันที่ 20 ก.ค. ราคาอยู่ที่ 13.65 บาท
ทั้งนี้ ตั้งแต่เมื่อเวลา 20.00 น.ของวันพุธ (20 ก.ค.) กระดานเทรดของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Exchange) ของ Zipmex กลับมาทำการซื้อขายเหรียญดิจิทัลได้ตามปกติแล้ว หลังได้ระงับการถอนเหรียญ ประมาณ 2 ชั่วโมง โดยนักลงทุนสามารถซื้อขายเหรียญได้ทุกชนิด ยกเว้นการใช้งาน Z Wallet ที่อยู่ระหว่างการแก้ปัญหาเรื่องสภาพคล่อง
ที่มา: สปริงนิวส์