ช็อกวงการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล หลังจากบริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ( Zipmex) ประกาศการถอนเงินบาท -คริปโต ในทุกกรณีชั่วคราว เมื่อค่ำวานนี้ (20 ก.ค.) โดยระบุว่าเพื่อรักษาเสถียรภาพของแพลตฟอร์ม จากความผันผวนของตลาด เหตุการณ์ต่าง ๆ ในอุตสาหกรรม และปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้นจากคู่ค้าทางธุรกิจหลัก ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัท บริษัทฯ จึงขอระงับการถอนทุกกรณีชั่วคราวจนกว่าจะมีประกาศเพิ่มเติม
ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) ( Zipmex) เป็นใคร มาจากไหน มีบทบาทอย่างไรในวงการสินทรัพย์ดิจิทัล วันนี้ "ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล" จะพามาทำความรู้จัก
จากข้อมูลจากเว็บไซต์ zipmex.com ระบุว่า ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล เป็นบุตรชายคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้อง 3 คน (เอกเทศ เอกลักษณ์ เอกลาภ ) ของดร.ไชยา ยิ้มวิไล อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักจัดการรายโทรทัศน์และวิทยุ กับ นางทิพย์สุดา ยิ้มวิไล
จบการศึกษาด้านกฎหมายทั้้งในระดับปริญญาตรีและโท จาก Bloomsbury London และ Georgetown University ตามลำดับ และจบปริญญาเอกด้านรัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายภาคธุรกิจการเงิน โดยเฉพาะการเงินและการทุน หลังสำเร็จการศึกษา เคยทำงานในบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลาเกือบสิบปีและดำรงตำแหน่งในฐานะกรรมการบริหารของบริษัท
จุดเริ่มต้นของการให้ความสนใจในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เขาเล่าว่า เริ่มจากการได้มีโอกาสซึมซับการให้บริการด้านการเงินและการลงทุนจากต่างประเทศสมัยที่อยู่อังกฤษตั้งแต่เด็ก และได้เปิดโลกทัศน์เพิ่มเติมจากการศึกษาปริญญาโทในสหรัฐอเมริกา ทำให้เห็นว่าในภาคการเงินนั้น ประเทศไทยและอีกหลายประเทศใน Asia Pacific ยังตามหลังประเทศอื่น ขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการลงทุน อีกทั้งช่องทางในการลงทุนไม่แพร่หลาย และทำให้เรื่องการเงินการลงทุนกลายเป็นเรื่องจำกัดอยู่กับคนเฉพาะกลุ่ม
จากประสบการ์ดังกล่าว จึงเฟ้นหา Solution ที่ช่วยให้เกิดการกระจายความมั่งคั่งกับทุกคน จนได้พบกับนวัตกรรมของสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหม่มาก และมาพร้อมกับโจทย์ที่ว่า จะทำให้สิ่งใหม่ที่ดูซับซ้อนเหล่านั้น ให้เป็นเรื่องเข้าใจง่ายได้อย่างไร จนนำมาสู่การก่อตั้ง Zipmex
ด้วยความรู้ด้านหลักทรัพย์ การเงิน และศึกษาเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเป็นทุนเดิมแล้ว ทำให้ ดร.เอกลาภ คุ้นเคยกับกลุ่มเป้าหมายในตลาดประเภทนี้ อีกทั้งเห็นเทรนด์ดังกล่าวจากแอปพลิเคชันเทรดหุ้น Robinhood ของอเมริกา ว่ามีข้อดีหลายอย่าง ไม่ต้องทำธุรกรรมผ่านโบรกเกอร์ ปราศจากค่าธรรมเนียม และผู้ใช้งานก็สามารถศึกษาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตได้ด้วยตนเอง ทำให้เห็นว่าตัวกลางในธุรกิจนี้อย่างโบรกเกอร์กำลังจะหายไป
รวมทั้งมองว่า นวัตกรรมซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลต้องมาถึงไทยสักวันหนึ่ง จึงคิดทำแพลตฟอร์มขึ้นมาเอง บวกกับโจทย์ที่ว่าจะทำให้สิ่งที่ว่านั้นเกิดขึ้นและใช้งานง่ายที่สุดได้อย่างไร ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล จึงตัดสินใจ ชักชวนพาร์ตเนอร์คนสำคัญที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีบล็อกเชน และมีประสบการณ์ในการตั้งบริษัทในต่างประเทศ คือ " มาร์คัส ลิม" หนึ่งผู้ร่วมก่อตั้ง Zipmex มาร่วมสร้างเส้นทางที่ตั้งใจไว้ด้วยกัน
"ความท้าทายตั้งแต่ก่อตั้ง Zipmex นั้น ถือว่ามีหลากหลาย นับตั้งแต่ลงไปทำงานทุกอย่างทุกขั้นตอนด้วยตัวเองในช่วงแรกที่ยังไม่ได้รับสนับสนุนเงินทุนเพื่อจ้างพนักงาน ทั้งทำ KYC ผู้ใช้งาน กดอนุมัติเงินจากธนาคารในสมัยที่ยังไม่มีระบบถอนเงินอัตโนมัติ ตอบคำถามลูกค้าเอง ไปจนถึงงานหลักงานใหญ่อย่าง การขอใบอนุญาตประกอบกิจการ การวางแผนบริหารจัดการ การระดมทุน ตลอดจนการพูดคุยให้ความเข้าใจแก่หน่วยงานภาครัฐ"ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล ได้ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่ง และว่า
สิ่งที่ขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตได้เร็วและไปต่อได้ ก็คือการให้ความสำคัญกับบุคลากรขององค์กร ซึ่งตนมุ่งเน้นเคี่ยวกรำคนข้างในให้มีความรู้ ความสามารถ รวมทั้งศักยภาพการทำงานที่สามารถนำไปต่อยอดที่อื่นได้ด้วย การทำงานเน้นแบบลงมือทำและแก้ปัญหาร่วมกันให้เต็มที่ สร้างสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ทุกคนสามารถใช้ความรู้ความสามารถของตัวเองมาสร้างสรรสังคมสินทรัพย์ดิจิทัลที่ดีได้
"Zipmex เน้นย้ำเสมอว่า ต้องคำนึงถึงการปฎิบัติงานที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. การให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลแก่นักลงทุน และความปลอดภัยของผู้ใช้งานเป็นหลัก เพื่อให้ลูกค้าได้รับบริการที่น่าเชื่อถือและปลอดภัยอย่างเต็มประสิทธิภาพ"
โดยเขาตั้งปณิธานไว้ว่า จะต้องผลักดัน Zipmex สู่การเป็นผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลเบอร์ 1 ระดับภูมิภาค Asia Pacific รวมทั้งทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการยกระดับเข้าถึงการเงิน (Financial Access) ของผู้คนผ่านการสร้างทักษะทางการเงิน (Financial literacy) ที่ถูกต้อง
อ้างอิงข้อมูล : เว็บไซต์ zipmex.com