รพ.เมดพาร์ค ชูเทคโนโลยี-นวัตกรรม ดันไทยเป็นเมดิคัลฮับในภูมิภาค

25 ก.ค. 2565 | 09:39 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ค. 2565 | 16:54 น.

รพ.เมดพาร์ค เผยทิศทางโรงพยาบาลไทย สู่เมดิคัลฮับในภูมิภาค ชี้ต้องเน้นเทคโนโลยี-นวัตกรรม เพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยโรค ลดการสูญเสีย พร้อมโชว์รางวัล LEED การันตีนวัตกรรมรักษ์โลก ตั้งแต่การก่อสร้าง จนถึงการบริหารงาน

นางสมถวิล ปธานวนิช ที่ปรึกษาคณะจัดการโรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวในหัวข้อ “Rethink Recover คิดใหม่เพื่อโลก : Innovation for Zero Waste” ในงานสัมมนา Virtual Seminars : Innovation Keeping the World : Rethink Recover นวัตกรรมรักษ์โลก” ที่จัดโดย สำนักข่าวสปริงนิวส์ ว่า รพ.เมดพาร์ค ได้มีการคำนึงสิ่งแวดล้อมตั้งแต่การออกแบบ การก่อสร้างอาคาร นอกเหนือจากจุดยืนในเรื่องของการเป็นศูนย์กลางรักษาโรคซับซ้อน เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นเมดิคัลฮับของภูมิภาค

 

สมถวิล ปธานวนิช ที่ปรึกษาคณะจัดการโรงพยาบาลเมดพาร์ค

โดยอาคารของ รพ.เมดพาร์ค ได้ออกแบบให้เป็น Positive Pressure Building ด้วยการใช้กระจก 4 ชั้น เพื่อลดความร้อนที่จะเข้าสู่ตัวอาคาร ทำให้ประหยัดแอร์ ลดการใช้พลังงาน ขณะเดียวกันยังใช้นวัตกรรมที่ไม่สะท้อนความร้อนไปยังอาคารใกล้เคียง 

 

มีการวัดปริมาณฝุ่น และอากาศภายในอาคารอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้อากาศภายในอาคาร สะอาด ปลอดเชื้อ มีระบบการระบายอากาศเพื่อลดการสะสมของเชื้อโรค ทำให้ภายใน รพ. มีความปลอดภัยทุกจุด โดยเฉพาะจุดสำคัญ เช่น ห้อง ICU เป็นต้น

นอกจากนี้วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารจะเป็นคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทั้งหมด รวมถึงอุปกรณ์ เช่น ผ้าม่าน โซฟา จะใช้วัสดุที่เป็นแอนตี้แบคทีเรีย , เตียงนอนผู้ป่วย จะมีการทำความสะอาดหลังการใช้งาน ด้วยระบบการอบฆ่าเชื้อ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค

 

ทำให้ รพ.เมดพาร์ค ได้รับรางวัล LEED หรือ Certification Leadership in Energy and Environmental design ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานรับรองอาคารเขียว ที่ให้ความสำคัญครอบคลุมการออกแบบอาคารเพื่อสิ่งแวดล้อม การก่อสร้าง การดำเนินการ และการบริหารงาน ที่มุ่งสู่การดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อม 

 

“มองว่า รพ.ในยุคใหม่ในอนาคตจะต้องเดินทางนี้ เชื่อว่าหลาย รพ.อยากทำแบบนี้ แต่ด้วยเพราะข้อจำกัดเนื่องจากก่อสร้างมานาน ขณะที่ รพ.เมดพาร์ค พึ่งเกิดขึ้นมา และเกิดในช่วงโควิด ทำให้การออกแบบอาคาร จากเดิมที่มุ่งเน้นในเรื่องของสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ก็เพิ่มเติม ปิดช่องว่างในทุกส่วน โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดโควิด ทั้งระบบอากาศภายในอาคาร หรือแม้กระทั่งหลอดไฟ รวมถึงการอบฆ่าเชื้อเตียงผู้ป่วยหลังการใช้งาน”  

 

“Rethink Recover คิดใหม่เพื่อโลก : Innovation for Zero Waste”

 

นางสมถวิล กล่าวอีกว่า ขณะที่ระบบน้ำ จะมีการนำไปรีไซเคิล 100% เพื่อหมุนเวียนนำกลับมาใช้ซ้ำ เช่น การรดน้ำต้นไม้ เป็นต้น ส่วนขยะ จะมีระบบที่ไม่ให้เกิดการส่วนทางกัน ระหว่างขยะหรือของเสีย และของดีหรือของที่ยังไม่ใช้งาน รวมทั้งเส้นทางเดินของคน เพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อ และขยะติดเชื้อทุกชิ้นจะมีการนำไปกำจัดด้วยระบบที่เป็นมาตรฐานสากล

 

อย่างไรก็ตาม แม้ รพ.เมดพาร์ค จะมีเตียง ICU ถึง 30% ของจำนวนเตียงทั้งหมดใน รพ. ซึ่งถือว่ามากเป็นอันดับต้นๆของภูมิภาค แต่ รพ. ได้มีการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งโรบอต ระบบ AI มาใช้ในการวินิจฉัยโรค เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการรักษา

 

“ความแม่นยำในการรักษา โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม จะช่วยลดการสูญเสีย ลดค่าใช้จ่าย ลดการนอน รพ.นานๆ ลดการผ่าตัดที่ไม่จำเป็น ซึ่งอดีตผู้ป่วยบางรายต้องไปหลาย รพ. เพื่อตรวจซ้ำเพื่อให้เกิดความแม่นยำในการวินิจฉัยโรค ต้องเดินทางไปกลับ รพ. หลายครั้ง ต้องนอน รพ. นานๆ ทั้งหมดล้วนแต่เป็นค่าใช้จ่าย”

 

พร้อมกล่าวย้ำอีกว่า สิ่งสำคัญ คือ การสร้างวัฒนธรรมภายในองค์กร ที่ให้สามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมเดียวกัน เพราะทุกคนจะมีความสำคัญ แม้แต่แม่บ้าน หรือ พนง.เข็นรถเข็นเตียง เพื่อทำให้ผู้ป่วยที่มารับบริการได้รับการรักษาและกลับบ้านได้เร็วที่สุด นอกจากนี้ รพ. ยังมีแอปพลิเคชั่น My Med ซึ่งจะมีระบบ เช่น การแจ้งเตือนการนัดหมาย การกินยา และยังลดการเดินทางของผู้ป่วยได้อีกด้วย