1 สิงหาคม 2565 - คงเป็นประเด็นร้อนแรงที่สุดในตลาดการลงทุนคริปโตเคอร์เรนซี่ หรือ สินทรัพย์ดิจิทัล ของกลุ่มนักลงทุนไทยตอนนี้ สำหรับกรณี 20 ก.ค. ที่ผ่านมา บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Zipmex Thailand แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีเบอร์ 2 ในไทย ประกาศระงับการฝาก ถอนเงินบาท และคริปโทเคอร์เรนซีในผลิตภัณฑ์ Zipup+ ที่ใช้งานใน Z Wallet จนสร้างความเสียหายกับลูกค้าไทยจำนวนมาก
ต่อมาปรากฎข่าว มีการยื่นขอพักชำระหนี้ (Moratorium) ของ Zipmex สิงคโปร์ ยิ่งสร้างความกังวลให้กับกลุ่มลูกค้าที่นำเงินไปลงทุนไว้ ท่ามกลางการรวมตัวเคลื่อนไหว กดดัน Zipmex อย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย)
นำทีม Zipmex พร้อมกับทนายที่ปรึกษา จัดแถลงการณ์ต่อประเด็นดังกล่าวเพื่อชี้แจงให้แก่ตัวแทนลูกค้าและสื่อมวลชนถึงปัญหา ZipUp+ ใน 5 ประเด็นสำคัญด้วยกัน
Zipmex แจง พักชำระหนี้ในสิงคโปร์ กระทบใครบ้าง ?
ขณะยืนยันด้วยว่า จากข่าวที่ปรากฎ ไม่ใช่การยื่นล้มละลาย แต่เป็นการยื่นขอพักชำระหนี้ต่อศาลสิงคโปร์ และบริษัทยังคงดำเนินธุรกิจต่อไป ซึ่งคำสั่งของศาลสิงคโปร์ไม่ได้มีผลกระทบในประเทศไทย และเจ้าหนี้ที่เกี่ยวข้องยังมีสิทธิเช่นเดิม แต่มีผลกระทบกับนักลงทุนไทยที่ลงทุนในผลิตภัณ์ ZipUp+ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของซิปเม็กซ์ สิงคโปร์ โดยมีนักลงทุนไทยที่เป็นลูกค้า ZipUp+ จำนวน 6-7 หมื่นราย มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท จากลูกค้าทั้งหมดทั่วโลกกว่า 1.3 แสนราย จะไม่สามารถได้รับเงินคืนในระหว่างการพักชำระหนี้จากศาลสิงคโปร์
หากได้รับการอนุมัติดังกล่าวหลังวันที่ 15 ส.ค. 2565 ซิปเม็กซ์ต้องดำเนินการตามแผนการที่ได้วางไว้ เช่น การหานักลงทุนเข้ามาเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เพื่อนำเงินลงทุนมาชำระหนี้ เป็นต้น
Zipmex แจง 5 ประเด็น ถอนโอนเหรียญได้เมื่อไหร่
นายเอกลาภ ระบุ ถึงปัญหาของ ซิปเม็กซ์ ว่า สืบเนื่องจากที่ทางบริษัท มีการ ‘ฝากเงิน’ ไว้กับบริษัท ที่เป็นคู่ค้าทางธุรกิจ ได้แก่บริษัท เซลเซียส เน็ตเวิร์ก (Celsius Network) ซึ่งเผชิญหน้ากับปัญหาสภาพคล่อง ตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย.2565 และประกาศล้มละลายในวันที่ 14 ก.ค. 2565 ทางบริษัท มีเงินฝากคงค้างอยู่กับ Celsius โดยประมาณ 5 ล้านดอลลาร์ หรือ 180 ล้านบาท
ทำให้บริษัทรีบตรวจสอบ ‘เงินฝาก’ ที่ทางบริษัทได้มีการฝากไว้กับคู่ค้าทางธุรกิจอีกราย ได้แก่ บริษัท บาเบล ไฟแนนซ์ ซึ่งมีเงินฝากอยู่ราว 48 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.7 พันล้านบาท ซึ่งในปัจจุบัน Babel Finance ยังคงดำเนินกิจการ และอยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ
ในส่วนของคำถามที่เกิดขึ้นว่าเหตุใด ซิปเม็กซ์จึงมีการนำเงินไปฝากกับสองบริษัท ทางบริษัทมีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของคู่ค้าทางธุรกิจทุกรายอย่างละเอียด ซึ่งบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับโลก และมีผลประกอบการที่ดีในช่วงเวลาก่อนหน้าที่จะเกิดปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจมหภาค และความผันผวนในตลาดคริปโทเคอร์เรนซี ในส่วนของสินทรัพย์ที่ทางบริษัท นำไปฝากกับ Babel Finance นั้น มีมูลค่าน้อยกว่า 5% จากสินทรัพย์ทั้งหมดของ Babel Finance
กรณีปรากฎข่าว ซิปเม็กซ์มีการยื่นล้มละลายต่อศาล ข้อความดังกล่าว เป็นการรายงานข่าวที่คลาดเคลื่อนไปจากความจริง ทุกบริษัทในเครือของซิปเม็กซ์ ไม่มีการขอยื่นล้มละลายต่อศาลแต่อย่างใด
นายเอกลาภ แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ Moratorium หรือที่เรียกว่า การยื่นขอพักชำระหนี้ ที่ทางกลุ่มบริษัท Zipmex ได้ยื่นขอพักชำระหนี้ ต่อศาลสิงคโปร์ ถือเป็นการปฏิบัติตามคำแนะนำของทนายความที่ปรึกษา เพื่อช่วยลดผลกระทบในระยะสั้น และให้บริษัท สามารถมีระยะเวลาในการจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้ง ยังเป็นการอำนวยความสะดวกในการทำ Due Diligence ของการระดมทุน
ทั้งนี้ การยื่นต่อศาลสิงคโปร์ในครั้งนี้ ไม่ได้มีผลกระทบต่อบริษัท ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย หรือประเทศอื่นๆ แต่อย่างใด เพียงแต่ทางบริษัท มีการชี้แจงหรือประกาศในเวบไซต์ของบริษัท แต่เพียงเท่านั้น เพื่อสร้างความโปร่งใสต่อการดำเนินงาน โดยกระบวนการดังกล่าวจะทำให้ ‘เจ้าหนี้’ ที่เกี่ยวข้อง มีสิทธิยื่นคำแถลงการณ์ภายในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2565 โดย ซิปเม็กซ์ ประเทศสิงคโปร์ จะเป็นผู้นำส่งเอกสารต่อศาล ภายในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2565 และศาลประเทศสิงคโปร์ ได้มีการกำหนดนัดพิจารณาคำขอพักชำระหนี้ในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2565 นี้
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาของซิปเม็กซ์ ถูกชี้แจงว่า ขณะนี้ กำลังประสานงานกับ Bable Finance เพื่อให้ได้สินทรัพย์กลับมา และเร่งระดมทุนเพื่อนำเงินเข้ามาหมุนเวียนในบริษัท ขณะนี้ มีการหารือร่วมกับนักลงทุนหลายราย และได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง หรือ MOU ร่วมกับนักลงทุนที่มีความสนใจจริงๆ ทั้งหมด 2 ราย ตามที่ทางบริษัท ได้ออกแถลงการณ์ไปเบื้องต้น
นอกจากนี้ ในส่วนของแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ ZMT ยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำเนินการตาม Roadmap ให้มากที่สุด ตามที่บริษัทได้แจ้งกับลูกค้าทุกท่านไว้
จากประเด็นบนสื่อโซเชียลมีเดียที่เกิดขึ้นภายหลังจากการไลฟ์แถลงการณ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ทางบริษัท ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของสำนักงาน ก.ล.ต. และหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ อย่างเคร่งครัด ผ่านหน่วยงาน Compliance ของบริษัท ทั้งในแง่ของการประสาน และการขอคำปรึกษาจากสำนักงาน ก.ล.ต. ในด้านต่างๆ ตลอดจนการออกผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ ZipUp ในอดีต หรือ ZipUp+ ในปัจจุบัน
นายเอกลาภ กล่าวว่า ซิปเม็กซ์ยืนยันความโปร่งใส และมีการพูดคุยกับ ก.ล.ต.มาโดยตลอด ซึ่ง ก.ล.ต. ทราบถึงผลิตภัณฑ์ Zipup+ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถทำได้ภายใต้ข้อกฎหมายในประเทศไทย แต่สามารถทำได้ในสิงคโปร์ โดยลูกค้าต้องยินยอมในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
นายเอกลาภ ยังระบุทิ้งท้ายว่า ซิปเม็กซ์จะมีการทยอยเปิดให้บริการ Z Wallet โดยจะเป็นการเครดิตไปที่ Trade Wallet เริ่มจาก 5 เหรียญ ได้แก่ ADA, SOL, XRP, BTC และ ETH ภายใน 2 สัปดาห์นี้
" 11 วันที่ผ่านมา ทางบริษัทเร่งดำเนินการทุกอย่าง ทั้งการเปิดเทรด ให้มีการฝาก ปีข้างหน้าถอนได้ปกติและมีเหรียญให้เปิดเทรดมากกว่าปกติ มีการทำ MOU การจัดตั้ง Hotline รวมทั้งมีการ ไลฟ์ชี้แจง โพสต์เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์รายงานความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงความโปร่งใส และเร่งดำเนินการเพื่อนำสินทรัพย์มาคืนลูกค้า "