เงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจากแรงหนุนที่ภาวะตลาดปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่สภาวะถดถอย (Recession) รวมถึงแรงกดดันต่อเงินยูโร (EUR) จากปัญหาวิกฤติพลังงาน ส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนอ่อนค่าและอาจลงไปทดสอบโซนแนวต้านใกล้ระดับ 36.80 บาทต่อดอลลาร์ได้
นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)ยูโอบี (ประเทศไทย)เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทิศทางเงินบาทในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ด้วย 2 ปัจจัยหลักคือ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)และการปรับขึ้นของราคานํ้ามัน
ทั้งนี้ทิศทางเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า ส่วนหนึ่งมาจากขนาดและทิศทางของเฟดที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าและมีความถี่ในการประชุมมากกว่าไทย ซึ่งจะหนุนสกุลเงินดอลลาร์แข็งค่า ขณะที่โอกาสเงินบาทจะแข็งค่าจากการดำเนินนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ขึ้นกับจังหวะของการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่อาจชะลอและปัญหาเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นดอกเบี้ยในทิศทางเดียวกับสกุลเงินหลักอาจช่วยลดความผันผวนของเงินบาทในระยะข้างหน้า โดยมองระยะกลางถึงระยะยาว เงินบาทอาจจะไม่อ่อนค่ามากกว่านี้ ส่วนปัจจัยราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น เป็นผลจากรัสเซียอาจจะใช้นโยบายจำกัดการผลิตน้ำมันช่วงเข้าสู่หน้าหนาว
“เงินบาทอาจอ่อนค่า 37.25 บาทมีโอกาสเกิดได้ครึ่งปีหลัง แต่ระยะยาวมีโอกาสค่อยๆแข็งค่ากลับมาได้ สิ้นปีน่าจะอยู่ที่ 36 บาทได้เมื่อดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.25% ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง แต่ถ้าสหรัฐเกิดปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในปี 2566 เฟดอาจจะหยุดขึ้นหรือลดดอกเบี้ยลงได้ ดังนั้นอาจจะเห็นดอกเบี้ยเฟดปรับลดลงอัตโนมัติ”นายจิติพลกล่าว
ทั้งนี้เนื่องจากพลังของการขยับนโยบายการเงินไม่เท่ากัน อย่างเฟดขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.75-1.00% ขณะที่มุมมองต่อการประชุมของ กนง.ในวันที่ 10 ส.ค. 2565 ยังทายใจว่า กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25%
“หากกนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ข้อดีคือ จะช่วยกระตุกบาทอ่อนได้ชั่วคราว จากนั้นค่อยไปดูว่าอัตราเงินเฟ้อสูงสุดตามคาดการณ์หรือไม่ และการขึ้นดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวจะดึงความเชื่อมั่นของตลาดได้หรือไม่ แต่หากเศรษฐกิจจะแย่ลงก็สามารถจะปรับลดดอกเบี้ยลงมาได้”นายจิติพลกล่าว
สำหรับเงินทุนเคลื่อนย้าย(ฟันด์โฟลว์) นั้น ในอนาคต 3-6 เดือนข้างหน้า มีโอกาสลุ้นเงินทุนไหลเข้าในตลาดหุ้น ซึ่งเป็นอานิสงส์จากธีมเปิดเมือง เป็นโอกาสจำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมา ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐปั่นป่วนจากภาพรวมของเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย ส่วนตลาดพันธบัตรไทยแนวโน้มเงินทุนไหลเข้าไม่มาก เพราะดอกเบี้ยไม่จูงใจ
นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคาร ทหารไทย ธนชาตหรือทีทีบี (ttb analytics) ทิศทางค่าเงินบาทยังอ่อนค่าต่อเนื่องจากปัจจัยดอกเบี้ยโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นและปัจจัยในประเทศยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัด มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาททะลุ 38 บาทต่อดอลลาร์ในไตรมาส 3 และจะพลิกกลับมาปิดปลายปีได้ที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัทศูนย์ วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มช่วงที่เหลือยังมีแรงกดดันด้านบาทอ่อนค่าได้ เพราะจังหวะการปรับนโยบายการเงินของไทยยังช้ากว่าเฟด ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยทำให้เงินบาทอ่อนค่าในระยะใกล้ ส่วนปลายปีหากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจชัดขึ้น แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอาจจะน้อยลง โดยธนาคารกสิกรไทยคาดว่า ในช่วงปลายปี 2565 จะเห็นเงินบาทฟื้นตัวกลับมาที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ได้
“จังหวะเฟดขึ้นดอกเบี้ยรอบวันที่ 27 กรกฎาคม ซึ่งดอกเบี้ยเฟด 0.75% เป็นอย่างน้อย ส่วนดอกเบี้ยนโยบายของไทย แม้จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบเดือนสิงหาคมนี้ แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ยังมีส่วนต่าง ทั้งจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่มีสัญญาณดีในวงกว้างและการปรับขึ้นดอกเบี้ยไทยช้ากว่าเฟดที่มีรอบการประชุมมากกว่าด้วย” นางสาวกาญจนากล่าว
สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ ระหว่างที่จังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยไม่สอดคล้องกันนั้น ในแง่ของผู้นำเข้าควรป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินผันผวน เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องเผชิญ รวมถึงต้นทุนนำเข้าที่แพงขึ้น ปัญหาซัพพลายเชน หรือขาดแคลนวัตถุดิบยังคงมีต่อ
“ภายใต้ความผันผวนนี้ ผู้นำเข้าสามารถปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนบางส่วนหรือทยอยทำก็ได้ ทั้งการซื้อดอลลาร์ล่วงหน้า (Forward) และซื้อ-ขายดอลลาร์ล่วงหน้าในระดับราคาที่กำหนดไว้ในสัญญา(option) ดีกว่าที่จะไม่ทำอะไร”
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,805 วันที่ 31 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม พ.ศ. 2565