“ดร.กนก”ชี้เฟดขึ้นดอกเบี้ยกระทบไทย 3 เรื่อง แนะทบทวน “คนละครึ่ง เฟส 5”

01 ส.ค. 2565 | 09:54 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ส.ค. 2565 | 17:02 น.

“ดร.กนก”ชี้เฟดขึ้นดอกเบี้ยกระทบไทย 3 เรื่อง ดอลลาร์ไหลออก-นำเข้าน้ำมัน ปุ๋ยแพง-ส่งออกได้ปริมาณแต่ไม่ได้มูลค่า แถมเกษตรกร ไม่ได้อานิสงก์ เหตุผลิตผลหลุดมืออยู่ที่พ่อค้าคนกลางแล้ว ห่วงมนุษย์เงินเดือนค่าครองชีพสูง  แนะทบทวน “คนละครึ่ง เฟส 5”ควรช่วยตรงกลุ่มเป้าหมาย

ศ.ดร.กนก วงษ์ ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคม อีก 0.75% เป็นครั้งที่สองอย่างต่อเนื่องว่า สะท้อนให้เห็นชัดว่าสถานการณ์เงินเฟ้อที่รุนแรงและธนาคารกลางต้องการจัดการให้ได้ ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจจะถดถอยได้ 

 

การใช้ยาแรงเช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างมีนัยสำคัญ 3 ประการ คือ 1.เงินดอลลาร์จะไหลกลับสหรัฐ ส่งผลให้ค่าเงินดอลล่าร์สูงขึ้น และทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันและปุ๋ยที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศมีราคาสูงขึ้น ต้นทุนของเกษตรกรจะเพิ่มขึ้น 

2.แม้การส่งออกผลผลิตและสินค้าอุตสาหกรรมน่าจะสูงขึ้น แต่มูลค่าการส่งออกอาจจะไม่สูงขึ้นเท่ากับปริมาณส่งออกที่สูงขึ้น แต่ที่สำคัญคือ ราคาผลผลิตที่เกษตรกรได้รับจะไม่สูงขึ้นมากเพราะเกษตรกรได้ขายผลผลิตให้พ่อค้าคนกลางไปแล้ว โดยเฉพาะชาวนาได้ขายข้าวให้โรงสีไปแล้ว 


และ 3.ต้นทุนสินค้านำเข้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ คือ น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ ส่งผลให้ค่าไฟฟ้า  ค่าเดินทาง ค่าอาหารการกิน จนถึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาสูงขึ้นส่งผลให้คนจนทั้งในเมืองและชนบท รวมถึงคนทำงานที่เรียกว่ามนุษย์เงินเดือน จะต้องแบกภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่รายได้และเงินเดือนไม่เพิ่มขึ้นตามค่าครองชีพ 

ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า ผลกระทบสำคัญ 3 ประการนี้กำลังทดสอบความสามารถทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ว่าจะสามารถนำเกษตรกร ผู้ประกอบการ SME และมนุษย์เงินเดือนให้ผ่านคลื่นอัตราดอกเบี้ยสูงและเงินเฟ้อนี้ไปได้อย่างไร 


ที่แน่นอนคือ มาตรการลด และ แจก แถม ของรัฐบาลที่ผ่านมาใช้กับปัญหาเงินเฟ้อและต้นทุนสูงนี้ไม่ได้ ปัญหาเงินเฟ้อและต้นทุนสูงต้องแก้ด้วยการสร้างรายได้ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

 

ที่สำคัญกว่าคือ ต้องแก้ด้วยการปฏิบัติ ไม่ใช่ด้วยการประกาศนโยบาย แล้วปล่อยให้ระบบราชการและเอกชนทำงานไปตามสภาพที่เป็นอยู่ รัฐบาลต้องไม่ลืมว่า มาตรการเงินกู้ 2 ครั้งเพื่อสู้โควิดและพลิกฟื้นเศรษฐกิจไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่มีรัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูงลงไปกำกับการปฏิบัตินโยบาย


“ผมขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า รัฐบาลมีปัญหากับการปฏิบัตินโยบาย มากกว่าการกำหนดนโยบาย แต่ขณะเดียวกันการกำหนดนโยบายหลายอย่างก็กำลังจะไม่สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เช่น โครงการคนละครึ่งเฟส 5 ที่จะใช้เม็ดเงินทั้งหมด  แจกเงินให้ประชาชน 800 บาทนั้น ควรจะต้องทบทวนใหม่ เพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบหว่านแห อาจไม่เหมาะในสถานการณ์ที่ควรเร่งช่วยแบบเฉพาะเจาะจง ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายที่มีความเดือดร้อนมากกว่า

 

และที่ต้องจับตาต่อคือ 5 ส.ค.นี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. จะแถลงภาวะเงินเฟ้อในเดือนก.ค.อย่างไร  จะพุ่งสูงทุบสถิติอีกหรือไม่ หลังเดือนมิ.ย.สูงถึง 7.66% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงสุดในรอบ 14 ปี”   ศ.ดร.กนก กล่าว