ภาวะเศรษฐกิจถดถอย คือ ภาวะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสะท้อนจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รายได้ที่แท้จริงลดลง อัตราการว่างงานเร่งตัวขึ้นมาอยู่ในระดับสูง ผลผลิตอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีก ค้าส่งลดลง
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาหลายตัวยังคงแข็งแกร่ง เช่น อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำมาก ยอดค้าปลีกยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมอยู่ในระดับสูงเช่นกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย
ทว่า ก็ไม่สามารถวางใจได้เพราะเริ่มเห็นสัญญาณถึงโอกาสการเกิดเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ จากดัชนีเศรษฐกิจบางตัว เช่น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จัดทำโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน อยู่ที่ระดับ 50.2 นับเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เคยมีการจัดทำดัชนีนี้ขึ้นมา
ที่สำคัญธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาแอตแลนต้า ได้คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของสหรัฐฯ ประจำไตรมาส 2 ปี 2565 จะติดลบประมาณ -2.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีเดียวกันที่ติดลบ -1.6% เช่นเดียวกับสหภาพยุโรป (อียู) ก็เริ่มเห็นสัญญาณการเกิดเศรษฐกิจถดถอย จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ติดลบ -23.60 และยังเป็นกลุ่มประเทศที่พึ่งพาพลังงานจากรัสเซียค่อนข้างมาก จึงทำให้ได้รับผลกระทบหลังจากรัสเซียไม่ขายพลังงานให้ ส่งผลให้ค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้นและไปกัดกร่อนกำลังซื้อ
ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในอดีตที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย พบว่าเกิดขึ้นโดยที่แทบไม่ทันได้ตั้งตัว แต่สำหรับครั้งนี้ทุกคนได้รับรู้ล่วงหน้าและรู้ถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะถดถอย ที่สำคัญยังสามารถประเมินได้คร่าว ๆ ว่าหากเกิดขึ้นจริงจะเกิดขึ้นในช่วงไหน หมายความว่า ทุกคนมีเวลาเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ภาวะดังกล่าว
เช่นเดียวกับนักลงทุน เมื่อรับรู้ข้อมูลข่าวสารถึงการเกิดเศรษฐกิจถดถอยก็ต้องนำมาวางแผนเพื่อรับมือไม่ให้พอร์ตลงทุนได้รับความเสียหาย โดยกลยุทธ์ที่แนะนำ คือ ลดน้ำหนักการลงทุนหุ้นและถือเงินสดเพิ่มขึ้น เช่น เดิมลงทุนหุ้น 60% ก็ลดลงเหลือ 40 – 50% และเมื่อประเมินว่าทุกอย่างเริ่มคลี่คลายก็กลับมาลงทุนหุ้นในสัดส่วนเท่าเดิม และหลังจากนั้นก็ปรับพอร์ตลงทุน ด้วยการเน้นลงทุนหุ้น 3D ได้แก่
Defensive Stock หรือหุ้นปลอดภัย โดยลักษณะหุ้นประเภทนี้จะมีราคาผันผวนต่ำมากไม่ว่าจะอยู่ในภาวะใด ดังนั้น จึงเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง มีความสามารถในการทำกำไรที่ดี พูดง่าย ๆ คือ การเติบโตจะไม่ขึ้นอยู่กับภาวะเศษฐกิจ เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือแย่ ประชาชนก็ยังต้องการ นั่นคือ หุ้นที่เกี่ยวข้องกับปัจจัย 4 เช่น ที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค การสื่อสาร และสาธารณูปโภคพื้นฐาน เป็นต้น
Dividend Stock หรือหุ้นที่จ่ายเงินปันผลดีสม่ำเสมอ โดยคุณสมบัติหลัก ๆ คือ มีพื้นฐานทางธุรกิจที่ดี ธุรกิจมีความได้เปรียบในการแข่งขัน ยิ่งเป็นธุรกิจที่มีคู่แข่งขันน้อยรายหรือหน้าใหม่เข้ามาในธุรกิจได้ยากก็ยิ่งดี และเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตต่อไปได้ และยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว
Domestic Stock หรือหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจภายในประเทศ เช่น ธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ คือกลุ่มค้าปลีก กลุ่มผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค หากกระตุ้นด้านการท่องเที่ยว เช่น กลุ่มโรงแรม กลุ่มอาหาร กลุ่มขนส่งทางอากาศ หรือหากรัฐบาลเพิ่มการลงทุนและการจับจ่ายใช้สอย กลุ่มที่ได้รับประโยชน์ เช่น กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง กลุ่มวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น
โดยเมื่อปรับพอร์ตลงทุนแล้ว นักลงทุนก็ควรติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ เพราะเมื่อมีปัจจัยต่าง ๆ เกิดขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อหุ้นในพอร์ตลงทุนของเราก็ต้องประเมินและตัดสินใจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ที่สำคัญการลงทุนในช่วงที่มีความผันผวนไม่ควรคาดหวังผลตอบแทนสูง แต่ให้เน้นความปลอดภัยของพอร์ตลงทุน
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย , setinvestnow.com