วิจัยกสิกรไทย คาดกนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สิ้นปีคาดขยับแตะ 1.25%

08 ส.ค. 2565 | 07:50 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ส.ค. 2565 | 14:51 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินการประชุม กนง. วันที่ 10 ส.ค. 65 คาดกนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จับตาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และอัตราเงินเฟ้อ คาดสิ้นปีดอกเบี้ยนโยบายขยับแตะ 1.00- 1.25%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าการประชุมกนง. ที่จะถึงนี้ คาดว่ากนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 0.75% ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้กนง. มีแนวโน้มที่จะทยอยถอนคันเร่งทางเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป 

 

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในระดับสูง โดยจากตัวเลขเงินเฟ้อไทยเดือนก.ค. 2565 อัตราเงินเฟ้อไทยวัดจากดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้น 7.61% YoY ชะลอลงเพียงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 7.66% YoY ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งหักอาหารสดและพลังงานออกแล้วเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่เร่งขึ้นที่ 2.99% YoY จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 2.51% YoY 
 

สะท้อนให้เห็นว่าการส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและในวงกว้างขึ้น ดังนั้น แม้ว่าราคาน้ำมันจะย่อลงมาบ้างและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะชะลอลงเล็กน้อย แต่แรงกดดันจากเงินเฟ้อภายในประเทศมีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ในระดับสูงอยู่ ดังนั้น กนง. มีแนวโน้มที่จะให้น้ำหนักต่อปัจจัยเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเป็นสำคัญ

 

และในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ากนง. อาจพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องไปในการประชุมที่เหลือของปีนี้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะอยู่ที่ 1.00-1.25 %  ณ สิ้นปี โดยจุดจับตาจะอยู่ที่ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตัวเลขเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า หากตัวเลขเงินเฟ้อยังเร่งตัวขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวดีจากการท่องเที่ยวคงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้กนง. พิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในทุกการประชุมที่เหลือของปีนี้ 
 

อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวของไทยได้ ขณะที่ อุปสงค์โลกที่ชะลอตัวลงอาจจะส่งผลต่อทิศทางเงินเฟ้อโลกอาจอ่อนแรงลงได้บ้าง ดังนั้น ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปีหน้ายังคงขึ้นอยู่กับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพภายนอกประเทศ ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น