นับจากจากต้นปี 2565 เงินเฟ้อของไทยเริ่มพุ่งตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยราคาอาหารและพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอันเป็นผลสืบเนื่องจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน และมาตรการ Zero Covid ของจีน ก่อให้เกิดปัญหาคอขวดของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกได้ประสบภาวะเงินเฟ้อสูงเช่นเดียวกันกับประเทศไทย
เงินเฟ้อไทยในเดือน มิ.ย. 2565 อยู่ที่ 7.66% สูงสุดรอบ 13 ปี
เงินเฟ้อไทยในเดือน มิ.ย. 2565 ที่ 7.66% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือน พ.ค. 2565 ที่ 7.10% โดยนักเศรษฐศาสตร์คาดว่าในปี 2565 อัตราเงินเฟ้อของไทยเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 5.9% สูงสุดในรอบ 24 ปี เงินเฟ้อที่สูงขึ้นส่งผลให้อำนาจซื้อของผู้บริโภคลดลง แล้วนักลงทุนควรลงทุนในสินทรัพย์อะไรเพื่อรักษาอำนาจการซื้อไม่ให้ลดลง
เมื่อเงินเฟ้อสูง ก็มักจะพูดถึงพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (Inflation Linked Bond)
พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (Inflation Linked Bond) เป็นพันธบัตรรัฐบาลที่ให้ผลตอบแทนแปรผันไปตามการเปลี่ยนแปลงของดัชนีอัตราเงินเฟ้อ โดยผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อจะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
ดังนั้นการลงทุนในพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ นักลงทุนจะได้รับการปกป้องจากเงินเฟ้อรักษาอำนาจซื้อให้ไม่ลดลง ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการออกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ ทั้งสิ้น 2 รุ่นมูลค่ารวม 2.17 แสนล้านบาท โดย ณ วันที่ 12 ก.ค. 2565 มีพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อคงเหลือ 1 รุ่น ( ILB283A ครบกำหนด 12 มี.ค. 2571) อีกรุ่นหนึ่งครบกำหนดอายุไปแล้ว ทำให้มีมูลค่าคงค้างที่ 1.07 แสนล้านบาทคิดเป็น 1.5% ของมูลค่าคงค้างพันธบัตรของไทย ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีสัดส่วนพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ 7.5% ของมูลค่าคงค้างพันธบัตรรัฐบาล (ณ สิ้น เม.ย. 2565) อย่างไรก็ตาม พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อไทยเป็นตราสารหนี้ประเภทหนึ่งที่น่าสนใจในช่วงที่เงินเฟ้อสูง
จะหาซื้อพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (Inflation Linked Bond) ได้จากที่ไหน
การซื้อพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อโดยตรงเป็นไปได้ยาก เพราะมีการซื้อขายเปลี่ยนมือในตลาดรองน้อย ดังนั้นทางเลือกสำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ คือการลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในพันธบัตรดังกล่าว ปัจจุบันมีเพียง 1 กองทุน คือ “กองทุนเปิดกรุงไทยอ้างอิงเงินเฟ้อ” (KTILF) ของ บลจ.กรุงไทย จากต้นปีกองทุน KTILF สร้างผลตอบแทนที่ +6% (YTD) ให้กับผู้ถือหน่วยลงทุน
กล่าวโดยสรุป การลงทุนในพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อได้ อย่างไรก็ตามการลงทุนควรพิจารณาความเสี่ยงด้านอื่นประกอบการตัดสินใจ และก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง ควรวางแผนระยะเวลาลงทุนให้เหมาะสมกับความต้องการใช้เงินในอนาคต
ที่มา : สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA)