ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลให้เอกชนเร่งออกหุ้นกู้ เพื่อล็อกต้นทุนดอกเบี้ยไว้ โดยช่วง 7 เดือนแรกปี 2565 พบเอกชนออกหุ้นกู้กว่า 7.2 แสนล้านบาท ส่งผลให้ยอดคงค้างตราสารหนี้เดือนกรกฎาคมทะลุ 15.2 ล้านล้านบาทเติบโตสูงกว่าสินเชื่อแบงก์ ขณะที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่คาดว่า จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึงกลางปี 2566 จะกระทบหุ้นกู้ระยะยาว 2-5 ปีขึ้นไป
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ช่วงที่เหลือของปี จะมีหุ้นกู้ทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่จะครบกำหนดอีก 4- 4.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นกู้ระยะยาว 2.18 แสนล้านบาท และหุ้นกู้ระยะสั้นอีก 2.2 แสนล้านบาท หลังจากเอกชนทยอยออกหุ้นกู้ไปแล้ว 7.2 แสนล้านบาท(ณ 5 ส.ค.2565) สอดคล้องกับคาดการณ์เดิมที่ทั้งปีจะมีการออกหุ้นกู้รวม 1.1-1.2 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปีนี้มีประมาณ 20 เซ็กเตอร์ ซึ่งแต่ละเซ็กเตอร์มีวงเงินตั้งแต่ 15 ล้านบาท สูงสุดถึง 1.23 แสนล้านบาท โดยแนวโน้มช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทเอกชนจะทยอยออกหุ้นกู้เพื่อล็อกต้นทุนและระดมทุนเผื่อดอกเบี้ยในประเทศที่ปรับขึ้นด้วย
ส่วนแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้ (Default) นั้น อาจจะไม่ Default เพราะบางบริษัทที่สภาพคล่องไม่พร้อม จะเจรจากับผู้ถือหุ้นกู้เพื่อขอยืดอายุออกไปพร้อมเสนอผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นกู้ อย่างไรก็ตาม หลังจาก กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยและส่งสัญญาณดอกเบี้ยไทยเป็นเทรนด์ปรับเพิ่มถึงกลางปี 2566 มีโอกาสที่จะเห็น Yield ขยับขึ้นได้อีก
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ทิศทางการผิดนัดชำระหนี้ของหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปีนี้น่าจะดีขึ้น หลังจากมีการเปิดเมือง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเหมือนเดิมอย่างสายการบินและบริษัทท่องเที่ยวที่เริ่มเห็นการกลับมาชำระเงินต้นได้แล้ว หลังจากมีสภาพคล่องเข้ามา
ทั้งนี้ปี 2564 มีบริษัทที่ผิดนัดชำระหนี้ราว 8.3 หมื่นล้านบาท โดยเป็นหุ้นกู้ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 7 หมื่นล้านบาท ที่ต้องหยุดบิน เผชิญปัญหาสภาพคล่องจนต้องเข้าฟื้นฟูกิจการ และอีก 3-4 บริษัทวงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นอกจากนั้นยังมีอีก 16 บริษัท วงเงินประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ที่ขอยืดการชำระหนี้ออกไป โดยชำระเพียงดอกเบี้ยเท่านั้น
“บริษัทที่มีศักยภาพ เมื่อธุรกิจสามารถกลับมารันได้ก็สามารถที่จะเริ่มชำระเงินต้นได้ หลังจากที่ขอยืดหนี้ไป และแม้ว่าจะมีการผิดนัดชำระหนี้บ้าง ก็ไม่ได้น่าตกใจ เพราะเมื่อเทียบกับยอดคงค้างตลาดตราสารหนี้ที่ 14 ล้านล้านบาทนั้น สัดส่วนเพียง 0.75% ของมูลค่าตลาดเท่านั้นเทียบกับเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ 3-4% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าแบงก์มาก” นางสาวอริยากล่าว
นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์ธุรกิจทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า 7 เดือนที่ผ่านมาเอกชนออกหุ้นกู้ประมาณ 7.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากสิ้นปีก่อน ดังนั้นครึ่งปีหลัง ตลาดหุ้นกู้คงไม่ออกมากเช่นต้นปี ประกอบกับส่วนใหญ่บริษัทแต่ละเซ็กเตอร์ได้ทยอยออกหุ้นกู้กันไปครบแล้ว เห็นได้จากกลุ่มพลังงาน รีเทล เรียลเอสเตท และสถาบันการเงิน
“ครึ่งปีหลัง หุ้นกู้ที่จะครบกำหนด 3.26 แสนล้านบาท จะยืดอายุออกไป ถ้าดอกเบี้ยขึ้นทิศทางอาจจะกลับมารีไฟแนนซ์ผ่านระบบธนาคารพาณิชย์บางส่วน เนื่องจากดอกเบี้ยระบบธนาคารพาณิชย์ไม่ปรับขึ้นเร็ว เช่นดอกเบี้ยในตลาด ซึ่งความเสี่ยงต้นทุนเพิ่มขึ้นตามทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น แต่บริษัทใหญ่ไม่มีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและต้นทุนจะแพงขึ้นเพื่อแข่งขันได้”นายนริศกล่าว
นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานธุรกิจตลาดเงิน ตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB กล่าวว่า ยอดคงค้างตลาดตราสารหนี้ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคมทะลุ 15 ล้านล้านบาท เป็นครั้งแรก โดยมียอดคงค้างที่ 15.2 ล้านล้านบาท สำหรับหุ้นกู้เพิ่มขึ้นแตะ new high ต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นกรกฎาคมที่ผ่านมาอยู่ 4.1 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 7% หรือประมาณ 40,000 ล้านบาทหรือ 1% ต่อเดือน
"ถ้าเติบโตในลักษณะนี้ไปเรื่อย ๆ จะทำให้สิ้นปี 2565 มียอดเติบโตขึ้นทั้งปีราว 10- 12% ซึ่งสูงกว่าสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ผ่านมา 5 เดือนเติบโตแค่ 1.6% และคาดว่าทั้งปี เต็มที่จะเติบโตไม่เกิน 4-5%"นายสงวนกล่าว
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,808 วันที่ 11 - 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565