ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO ) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มทำจุดสูงสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ และชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยเป็นผลจากการลดลงของราคาพลังงานโดยเฉพาะน้ำมัน ปัญหาคอขวดห่วงโซ่อุปทานที่ดีขึ้น การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ชะลอลง จากฐานที่สูงในช่วงไตรมาส 4 / 2564โดยอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงแต่ยังอยู่ในระดับสูงนี้จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในปี 2565 แต่จะเป็นการขึ้นในอัตราที่ช้าลงและเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจมากขึ้น โดยตั้งแต่ต้นปีเฟดขึ้นดอกเบี้ยนโยบายรวมแล้ว 225 basis points (bps) และคาดว่าจะขึ้นต่ออีก 100 bps ในอีก 3 การประชุมที่เหลือของปีนี้ จะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นสู่ระดับ 3.25 -3.50% ณ สิ้นปี 2565
การดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวของเฟดนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯในหลายช่องทาง เช่น การแข็งค่าของเงินดอลลาร์เทียบสกุลคู่ค้าที่กดดันการส่งออกสุทธิของสหรัฐฯ การปรับตัวลดลงอย่างมากของตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่กดดันความมั่งคั่ง (wealth effects)และการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ลดลง รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจดจำนอง (mortgage rates) ที่กดดันกิจกรรมภาคอสังหาริมทรัพย์
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังคงอยู่ แต่ความรุนแรงอาจจะน้อยกว่าที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะอยู่ในภาวะถดถอยทางเทคนิค (technical recession) จาก GDP (QoQ Saar) ไตรมาสที่ 1 และ 2 ในปี 2565 ที่ติดลบสองไตรมาสติดต่อกัน รวมถึงสัญญาณจากส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (bond yield) สหรัฐฯ อายุ 10 ปี และ 2 ปี ที่ยังอยู่ในภาวะ inverted yield curve ซึ่งเป็นสัญญาณว่ามีความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในระยะข้างหน้า แต่ตลาดแรงงานสหรัฐฯยังแข็งแกร่งและงบดุลของภาคครัวเรือนที่สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ยังอยู่ในระดับที่ดี ภาคธุรกิจไม่ได้มีการก่อหนี้มากนัก และยังมีสภาพคล่องที่สูง SCB CIO ประเมินว่าโอกาสที่สหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบรุนแรงยังมีไม่สูงมากนัก
นอกจากนี้ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ของสหรัฐฯในไตรมาส 2 สะท้อนความสามารถในการจัดการต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นได้ โดยผลประกอบการของบจ.ในหุ้น S&P500 โดยเฉลี่ยออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ทั้งรายได้ อัตราการทำกำไร และกำไรสุทธิ ขณะที่เราคาดว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในช่วงครึ่งหลังของปียังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง
ทั้งนี้ มูลค่า (Valuation ) ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลมากขึ้น และถือว่าเหมาะสมสำหรับการทยอยสะสมลงทุน โดย Forward P/E ของ S&P500 ปรับลดลงมาค่อนข้างมากจากช่วงต้นปี โดยขนาดการลดลงของ P/E ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยการลดลงของ P/E ในช่วงที่เกิดเศรษฐกิจถดถอยในอดีต ดังนั้น ความเสี่ยงขาลงของตลาดหุ้นสหรัฐฯจึงมีค่อนข้างจำกัด และ Valuation มีโอกาสที่จะทยอยฟื้นตัวขึ้นต่อ ตาม bond yield สหรัฐฯ อายุ 10 ปี ที่มีแนวโน้มพักฐานและทยอยลดลง หลังเฟด มีแนวโน้มทยอยปรับลดท่าทีในการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดลง
สำหรับกลยุทธ์การลงทุน SCB CIO มีมุมมองเป็นบวกต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯและแนะนำทยอยลงทุน โดยมีเหตุผลประกอบดังนี้
เราคาดว่า Bond yield สหรัฐฯ อายุ 10 ปี มีแนวโน้มพักฐานในไตรมาส 3 /2022 และเริ่มทยอยลดลงใน ไตรมาส 4/2022 จากการที่เฟดมีแนวโน้มลดท่าทีที่hawkish ลงในช่วงที่เหลือของปีนี้ หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มทยอยลดลงต่อ ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่ม Quality growth และกลุ่ม Defensive growth เช่น Healthcare
Valuation ของ S&P500 อยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลมากขึ้น โดยตั้งแต่ต้นปี forward PE ของ S&P500 ลดลงราว 4.5 เท่า ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยการลดลงของ PE ในช่วงที่เกิด recession ซึ่งอาจสะท้อนว่า PE ตลาดฯ ซึมซับบนความเสี่ยง recession ไประดับหนึ่งแล้ว ทั้งนี้ ระดับ S&P500 PE เทรดอยู่เหนือค่าเฉลี่ยระยะยาวเพียงเล็กน้อย
ผลประกอบการของบจ.ใน S&P500 ประจำไตรมาส 2/2022 ส่วนใหญ่ดีกว่าที่ตลาดคาด โดย 90% ของบจ.ใน S&P500 ที่รายงานแล้ว จำนวน 75% มี Earnings surprise +4.1% และ+8.8%YoY ส่วนทางด้านSales 63% ของ บจ.ที่รายงานแล้ว มี Sales surprise +2.9% และมี Sales growth 14.8%YoY SCB CIO คาดว่า ผลประกอบการบจ.ในช่วงครึ่งหลังของปีมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง Sentiment นักลงทุนที่ Bearish บนตลาดหุ้นสหรัฐฯ มากเกินไปในช่วงที่ผ่านมา เริ่มกลับมาดีขึ้น สะท้อนจาก AAII Bull-Bear Spread ที่ฟื้นตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ สอดคล้องกับภาพรวมตลาดฯ ที่ฟื้นตัวขึ้น