ดอลล์แข็งกดดัน ทองคำนิวยอร์กร่วง 5.5 ดอลล์ ปิดที่ 1,771.20 ดอลล์

19 ส.ค. 2565 | 00:07 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2565 | 07:08 น.

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ในวันพฤหัสบดี (18 ส.ค.) โดยสัญญาทองคำปิดในแดนลบติดต่อกันเป็นวันที่ 4 เนื่องจากสกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าอย่างต่อเนื่องและเป็นปัจจัยกดดันตลาดทองคำ

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 5.5 ดอลลาร์ หรือ 0.31% ปิดที่ 1,771.20 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค.
         

  • สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 26.7 เซนต์ หรือ 1.35% ปิดที่ 19.464 ดอลลาร์/ออนซ์\
  • สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 14.4 ดอลลาร์ หรือ 1.57% ปิดที่ 904.90 ดอลลาร์/ออนซ์
  • สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 12.70 ดอลลาร์ หรือ 0.6% ปิดที่ 2,149.40 ดอลลาร์/ออนซ์

ตลาดทองคำได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน พุ่งขึ้น 0.85% แตะที่ระดับ 107.4840 เมื่อคืนนี้

         

ทั้งนี้ การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ทำให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ

         

เจฟฟ์ ไรท์ นักวิเคราะห์จากบริษัทโวล์ฟแพค แคปิตอลกล่าวว่า ข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐทำให้นักลงทุนเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย

 

นอกจากนี้ นักลงทุนยังประเมินรายงานการประชุมประจำวันที่ 26-27 ก.ค.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งบ่งชี้ว่า เฟดพร้อมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่เฟดก็ส่งสัญญาณว่าอาจจะผ่อนคันเร่งในการปรับขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะขาลง

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 2,000 ราย สู่ระดับ 250,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 265,000 ราย                

 

ขณะที่เฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติก พุ่งขึ้นสู่ระดับ +6.2 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -5.0 จากระดับ -12.3 ในเดือนก.ค. โดยดัชนีอยู่เหนือระดับ 0 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติกมีการขยายตัว