ธ.ก.ส.เปิดตัวแอปฯTree Bank เพิ่มมูลค่าต้นไม้สู่หลักทรัพย์ค้ำประกัน

27 ส.ค. 2565 | 05:15 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ส.ค. 2565 | 12:29 น.

ธ.ก.ส.เปิดตัวแอปฯ Tree Bank สร้างฐานข้อมูลต้นไม้ เพิ่มมูลค่าสู่หลักทรัพย์ค้ำประกัน และรายได้จากคาร์บอนเครดิต

นายธนารัตน์  งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า  ธ.ก.ส. ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระราชดำริในการสานต่อพระราชปณิธานดังกล่าวของพระบาทสมเด็จพระ   วชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

เพื่อเป็นหลักในการดำเนินงานผ่านโครงการธนาคารต้นไม้ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2553โดยมีชุมชนทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการธนาคารต้นไม้กับ ธ.ก.ส. แล้ว 6,838 ชุมชน มีสมาชิก 123,424 คน และสามารถปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นกว่า 12.3 ล้านต้น 


และในปี 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนโครงการยกระดับธนาคารต้นไม้สู่ชุมชนไม้มีค่า ซึ่งเป็นการต่อยอดการนำผลิตผลจากต้นไม้มาสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้กับชุมชน อาทิ การเพาะกล้าไม้ การนำวัตถุดิบจากไม้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น น้ำส้มควันไม้ สมุนไพร และเฟอร์นิเจอร์ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

 

การนำร่องสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (LESS) และกิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) การใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันหนี้เงินกู้ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีชุมชนที่ยกระดับไปสู่ชุมชนไม้มีค่าแล้ว 381 ชุมชน และสามารถสร้างรายได้จากกิจกรรมดังกล่าวข้างต้นแล้วกว่า 38 ล้านบาทต่อปี

นายธนารัตน์ กล่าวว่า เพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตในยุคดิจิทัล ธ.ก.ส. ได้พัฒนาแอปพลิเคชันธนาคารต้นไม้ (Tree Bank) ซึ่งถือเป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล และอำนวยความสะดวกให้กับสมาชิกธนาคารต้นไม้ ธ.ก.ส. ในการเก็บข้อมูลต้นไม้บนโทรศัพท์มือถือแทนการจดบันทึกลงในกระดาษ

นายธนารัตน์  งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ไม่ว่าจะเป็นบันทึกพิกัดต้นไม้ที่ปลูก วันที่ปลูก ชนิดของต้นไม้ ความโต ความสูง ทั้งยังสามารถคำนวณมูลค่าต้นไม้ และปริมาณกักเก็บคาร์บอนต้นไม้ได้อีกด้วย ซึ่งแอปพลิเคชัน Tree Bank จะทำให้ทราบว่า ต้นไม้ในโครงการธนาคารต้นไม้ มีพิกัดตั้งอยู่ที่ไหน มีต้นไม้ประเภทใดบ้าง แต่ละต้นมีมูลค่าเท่าไร

 

ซึ่งข้อมูลดังกล่าว สามารถตรวจสอบและการันตีความถูกต้องของจำนวนต้นไม้ที่ชุมชนได้ร่วมกันปลูกและดูแลรักษาและยังสามารถนำข้อมูลมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ เช่น การนำต้นไม้มาใช้เป็นหลักประกันสินเชื่อ การสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (LESS) การรายงานปริมาณการกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ กิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset)

 

รวมถึงบันทึกการขอสินเชื่อในโครงการรักษ์ป่าไม้ ไทยยั่งยืนและโครงการสินเชื่อสีเขียว (Green Credit) ทั้งนี้สมาชิกและชุมชนธนาคารต้นไม้ สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “ธนาคารต้นไม้ (Tree Bank)” ได้ที่ Appstore และ PlayStore พร้อมติดต่อลงทะเบียนใช้งานที่ ธ.ก.ส. สาขาเท่านั้น โดยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ

สำหรับวิสาหกิจชุมชนบ้านเขานาใน ตำบลต้นยวน อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี นำโดยนายธนกฤต  ขุนนำ ผู้ใหญ่บ้าน นำสมาชิก 114 ราย เข้าร่วมโครงการธนาคารต้นไม้กับ ธ.ก.ส. ตั้งแต่ปี 2553 มีการปลูกต้นไม้ในชุมชนเพิ่มจำนวน 13,000 ต้น และมีการยกระดับชุมชนสู่ชุมชนไม้มีค่า

 

โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนชุมชนในการเติมองค์ความรู้จากการศึกษาดูงานในสถานที่ต่าง ๆ เพื่อนำมาเป็นกรณีศึกษาและนำไปต่อยอดในพื้นที่ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการนำจุดแข็งของชุมชน  ทั้งความงดงามของธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรม มาสร้างอาชีพและรายได้ เช่น การพัฒนาไปสู่ชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตร

 

การเยี่ยมชมอุทยานธรรมเจดีย์ลอยฟ้า กิจกรรมเดินป่าชมไพรแลไข่พ่อตา การทำโฮมสเตย์รองรับนักท่องเที่ยว การแปรรูปสมุนไพรอบแห้ง และการเลี้ยงและแปรรูปจิ้งหรีด การปลูกผักอินทรีย์และปลูกป่า

 

 การเปิดตัวแอปพลิเคชัน Tree Bank ในครั้งนี้ สร้างประโยชน์และช่วยอำนวยความสะดวกในการคำนวณข้อมูลต้นไม้ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่การคำนวณมูลค่าคาร์บอนเครดิต เพื่อเป็นรายได้ในอนาคต พร้อมวางเป้าหมายเสริมความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ เพื่อสืบสานการอนุรักษ์ทรัพยากรในชุมชนต่อไป 


นายธนารัตน์ กล่าวต่อไปว่า โครงการธนาคารต้นไม้และชุมชนไม้มีค่า เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนงาน ธ.ก.ส. ภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม (BCG Model) ซึ่งประกอบไปด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) เป็นการมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง

 

มีการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่คำนึงถึงการนำวัสดุทางการเกษตรต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล

 

โดยวางเป้าหมายเพิ่มชุมชนไม้มีค่า 20,000 ชุมชน เพิ่มพื้นที่ป่า 26 ล้านไร่และมีประชาชนเข้าร่วมโครงการ 2.6 ล้านครัวเรือน พร้อมมุ่งหวังให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,040 ล้านบาท ภายใน 10 ปี