ทำความรู้จัก Holding Company ลงทุนทีเดียวได้หุ้นหลายตัว

15 ก.ย. 2565 | 22:05 น.

การลงทุนในหุ้น Holding Company เป็นอีกกลุ่มที่มีความน่าสนใจ จากการที่ถือหุ้นในบริษัทที่หลาก นับว่าเป็นการกระจายความเสี่ยงที่ดี มารู้จักกับ Holding Company ว่าคืออะไร มีความน่าสนใจ จุดเด่น และวิธีวิเคราะห์อย่างไรบ้าง

เคยได้ยินไหมว่า “อย่าฝากทั้งชีวิตไว้กับรายได้ทางเดียว” นั่นจึงทำให้มนุษย์เรามีการหารายได้หลายทางมากขึ้น บริษัทในยุคนี้ก็เช่นเดียวกัน ต้องมีการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เพื่อให้บริษัทยังสามารถอยู่รอดได้ ซึ่ง Holding Company ก็เป็นบริษัทที่มีรายได้หลายทาง จากการถือหุ้นหลาย ๆ บริษัท และในช่วงที่ตลาดผันผวน เศรษฐกิจไม่ค่อยสู้ดีนัก การลงทุนในหุ้น Holding Company ก็เป็นอีกกลุ่มที่มีความน่าสนใจ จากการที่ถือหุ้นในบริษัทที่หลากหลาย ซึ่งนับว่าเป็นการกระจายความเสี่ยงที่ดี

 

Holding Company คืออะไร

 

Holding Company คือ บริษัทที่ตั้งขึ้นมาโดยมีรายได้จากการถือหุ้นในบริษัทอื่นเป็นหลัก ซึ่งอาจจะมีธุรกิจหลักของตัวเอง หรือถือหุ้นในบริษัทอื่นเพียงอย่างเดียวก็ได้ โดย Holding Company ต้องถือหุ้นในบริษัทหลักอย่างน้อย 1 บริษัท อาจเป็นการถือหุ้นในบริษัทลูกที่มักจะถือหุ้นมากกว่า 50% หรือเข้าไปถือหุ้นบริษัทร่วมที่มักจะถือหุ้น 20-50% ก็ได้เช่นกัน

 


 

จุดเด่นของหุ้น Holding Company

 

  • เป็นบริษัทขนาดใหญ่ มั่นคง แข็งแรง มีการกระจายความเสี่ยงการลงทุน จากการที่บริษัทมีการถือหุ้นในธุรกิจที่หลากหลาย โอกาสที่ธุรกิจต่าง ๆ จะเกิดวิกฤตขึ้นพร้อม ๆ กันจะถือว่าเป็นไปได้ยาก หรือมีความเป็นไปได้น้อย นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าการดำเนินธุรกิจที่เป็นบริษัทเดี่ยวอีกด้วย
  • สามารถขยายการเติบโตด้วยการลงทุนในธุรกิจทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมได้
  • หุ้น Holding ค่อนข้างมีมูลค่าการตลาด (Market ) ถูกกว่ามูลค่าของหุ้นที่ถืออยู่ ฉะนั้นการซื้อหุ้น Holding มักจะได้ส่วนลดที่มากกว่าการเข้าไปลงทุนตรงในหุ้นลูกที่ Holding ถืออยู่
  • มีการจ่ายปันผลในอัตราที่สูงได้ เนื่องจาก Holding Company มักจะลงทุนในธุรกิจที่มีกำไรและสร้างกระแสเงินสดกลับมาในอัตราที่สูงได้ เพื่อจะได้ส่งต่อผลตอบแทนนั้นไปยังกลุ่มผู้ถือหุ้นอีกทอดหนึ่ง

 

ทำความรู้จัก Holding Company ลงทุนทีเดียวได้หุ้นหลายตัว

 

สำรวจตัวอย่างหุ้น Holding Company ในไทย

 

Holding Company ในประเทศไทยมีหลายบริษัท ขอยกตัวอย่าง Holding Company ที่มี Market Cap. เกิน 30,000 ล้านบาทขึ้นไป ได้แก่

 

INTUCH : บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)

 

ประกอบธุรกิจด้านการลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคม สื่อ เทคโนโลยี และดิจิทัล โดยการถือหุ้นและเข้าไปบริหารงาน (Holding Company) สามารถจำแนกออกเป็น 3 สายธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมไร้สาย ธุรกิจดาวเทียมและธุรกิจต่างประเทศ และธุรกิจอื่น ๆ โดยในปี 2565 ไตรมาสแรกมีรายได้รวม 752.59 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,552.24 ล้านบาท

 

  • อัตราส่วนการเงินที่สำคัญ : P/E Ratio 21.17 เท่า, Dividend Yield 4.03%
  • สัดส่วนหุ้นที่ถือ : ADVANC 40.44%, THCOM 41.13%

 

 

 

 

PTT : บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

 

ประกอบด้วยกิจการที่ ปตท. ดำเนินการเอง ได้แก่ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน และธุรกิจที่ลงทุนผ่านบริษัทย่อยและ/หรือกิจการที่ควบคุมร่วมกันและบริษัทร่วม (กลุ่มบริษัท) ได้แก่ ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว ธุรกิจปีโตรเคมีและการกลั่น ธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก ธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปการ ธุรกิจถ่านหิน ธุรกิจให้บริการ โดยในปี 2565 ไตรมาสแรกมีรายได้รวม 762,251.89 ล้านบาท กำไรสุทธิ 25,570.94 ล้านบาท

 

  • อัตราส่วนการเงินที่สำคัญ : P/E Ratio 9.51 เท่า, Dividend Yield 5.93%
  • สัดส่วนหุ้นที่ถือ : PTTEP 63.79%, PTTGC 45.18%, TOP 45.03%, IRPC 45.05%, OR 75%, GPSC 42.53%, TIPH 13.46%

 

BTS : บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)

 

ประกอบธุรกิจ 4 ประเภทหลัก ได้แก่ (1) ธุรกิจระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้าบีทีเอสและรถโดยสารด่วนพิเศษบีอาร์ที) (2) ธุรกิจสื่อโฆษณา (3) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และ (4) ธุรกิจบริการ โดยในปี 2565 ไตรมาสแรกมีรายได้รวม 31,19.50 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,825.58 ล้านบาท

 

  • อัตราส่วนการเงินที่สำคัญ : P/E Ratio 29.60 เท่า, Dividend Yield 3.60%
  • สัดส่วนหุ้นที่ถือ : VGI 52.15% (บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ถือ 22.49% และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ถือ 29.66%), U 36.22%, PLANB 18.59% (ถือผ่านบริษัท วี จี ไอ จำกัด (มหาชน)), MACO 14.92%

 

JMART : บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน)

 

ปัจจุบัน บริษัทมีสถานะเป็นโฮลดิ้ง คอมพานี หรือประกอบธุรกิจลงทุนในธุรกิจอื่น โดยมีธุรกิจหลักของบริษัทคือ จำหน่ายทั้งค้าปลีกและค้าส่งโทรศัพท์เคลื่อนที่ และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่หลักทุกรายและผู้ให้บริการทุกเครือข่ายรวมถึงการขยายธุรกิจเข้าไปในตลาดจัดจำหน่ายกล้องดิจิตอล และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง โดยในปี 2565 ไตรมาสแรกมีรายได้รวม 3,738.31 ล้านบาท กำไรสุทธิ 325.12 ล้านบาท

 

  • อัตราส่วนการเงิน : P/E Ratio 9.51 เท่า, Dividend Yield 5.93%
  • สัดส่วนหุ้นที่ถือ : JMT 53.40%, J 65.53%, SINGER 25.57%

 

SPI : บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)

 

ประกอบธุรกิจการลงทุนในหุ้นบริษัทต่าง ๆ และการพัฒนาสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1) ธุรกิจการลงทุนในธุรกิจสินค้าอุปโภค 2) ธุรกิจการลงทุนในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และ 3) ธุรกิจการพัฒนาสวนอุตสาหกรรมและลงทุนในธุรกิจอื่นๆ

 

  • อัตราส่วนการเงิน : P/E Ratio 9.51 เท่า, Dividend Yield 5.93%
  • สัดส่วนหุ้นที่ถือ : SPC 24.98% ,TNL 24.93, ICC 24.81%,  WACOAL 23.06%, S&J 20.08%, TPCS 20.03%, TFMAMA 25.98%, PB 21.79%

 

วิธีการวิเคราะห์หุ้น Holding Company

 

ก่อนที่เราจะตัดสินใจลงทุนในหุ้น Holding Company หัวใจสำคัญในการวิเคราะห์หุ้นประเภทนี้ มีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ แต่สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าควรเริ่มต้นวิเคราะห์อย่างไร สามารถเริ่มต้นได้ ดังนี้

 

 1. เข้าใจโครงสร้างการลงทุน

 

Holding Company ของแต่ละบริษัทจะมีการลงทุนบริษัทย่อยในสัดส่วนที่แตกต่างกัน โดยแบ่งโครงสร้างของกลุ่มธุรกิจที่ถืออยู่ออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

 

  • กลุ่มธุรกิจหลัก จะสามารถลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมที่ถือหุ้นได้ในสัดส่วน 25% ขึ้นไป และจะต้องรวมกันได้ไม่เกิน 75% ของมูลค่าสินทรัพย์ Holding Company
  • กลุ่มธุรกิจอื่น จะเป็นการลงทุนในบริษัทย่อย ซึ่งทุกบริษัทในกลุ่มนี้จะต้องรวมกันไม่เกิน 25% ของมูลค่าสินทรัพย์ Holding Company

 

ซึ่งการทำความเข้าใจในการแบ่งโครงสร้างการลงทุน จะช่วยให้นักลงทุนได้เห็นภาพของธุรกิจนี้ได้ง่ายมากขึ้น ว่ามีสัดส่วนในการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมใด ลงทุนมากน้อยแค่ไหน

 

2.ประเมินมูลค่าหุ้นของบริษัท Holding Company

 

การประเมินมูลค่าของหุ้นประเภทนี้ สามารถหาได้จาก 2 วิธี ดังนี้

 

  • การหามูลค่าหุ้นบริษัทลูกที่ Holding Company ถืออยู่

 

การใช้มูลค่าหุ้นมาประเมินมูลค่า เรียกว่า Sum Of The Parts (SOTP) เป็นวิธีการนำมูลค่าของหุ้นบริษัทลูกมารวมกัน โดยเป็นค่าที่บอกว่า หุ้น Holding Company นี้ ควรจะมีมูลค่าเท่าไหร่ ซึ่งมีความใกล้เคียงและมีความแม่นยำกว่า เมื่อเทียบกับวิธีการประเมินมูลค่าแบบอื่น ๆ เนื่องจากวิธีดังกล่าวอิงกับมูลค่าของหุ้นของแต่ละกิจการที่มีการซื้อขายในตลาด

แต่อย่างไรก็ตาม การประเมินมูลค่าด้วยวิธีนี้ นักวิเคราะห์มักจะลดมูลค่าของหุ้นที่บริษัท Holding Company ถืออยู่ประมาณ 20-25% บนสมมติฐานที่ว่า หากบริษัทขายหุ้น จะต้องเสียภาษีนิติบุคคล 20%

 

  • อัตราส่วนทางการเงิน

 

วิธีนี้จะเป็นการตั้งสมมติฐานว่าหุ้น Holding Company เป็นหุ้นธรรมดา โดยในสถานการณ์ทั่วไป นักลงทุนมักจะใช้อัตราส่วน P/E Ratio และอัตราส่วนเงินปันผล (Dividend Yield) โดยเริ่มวิเคราะห์จากภาพรวมของงบการเงิน และเจาะไปที่กำไร จากนั้นจึงใช้ P/E Ratio เทียบกับอุตสาหกรรมที่ Holding Company ถูกจัดอยู่ ซึ่งวิธีนี้ สามารถนำไปปรับใช้กับบริษัทลูกที่ Holding Company ถืออยู่ได้ด้วย

 

 3. นโยบายจ่ายเงินปันผล

 

นอกจากการประเมินมูลค่าหุ้นแล้ว เราจะต้องดูผลประกอบการของบริษัท Holding Company ด้วยว่าเป็นอย่างไร มีนโยบายการจ่ายปันผลหรือไม่ ซึ่งสัญญาณหนึ่งที่ผู้บริหารใช้ในการแก้ปัญหาเวลาหุ้นประเภทนี้มีราคาต่ำเกินไป คือ การทำกำไรจากการขายหุ้นที่ถือ และจ่ายปันผลพิเศษให้ผู้ถือหุ้น

 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้น Holding Company ถือเป็นบริษัทที่มีความซับซ้อน ต้องทำความเข้าใจในรายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มเติมให้ดีก่อนการลงทุน และสำหรับใครที่ต้องการศึกษาหุ้นในกลุ่ม Holding Company หรือกลุ่มอื่น ๆ เพิ่มเติม พร้อมรับมุมมองจากนักวิเคราะห์หลากหลายบริษัทหลักทรัพย์ สามารถศึกษาได้จากโครงการจัดทำบทวิเคราะห์สำหรับผู้ลงทุน คลิกที่นี่ 

 

สุดท้ายนี้หากนักลงทุนสนใจเริ่มต้นลงทุนในหุ้นกลุ่มต่าง ๆ และต้องการข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์เชิงลึก ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดโอกาสให้นักลงทุนทดลองใช้งาน SETSMART ฟรี 15 วัน เพียงแค่สมัครเป็นสมาชิก SET Member เท่านั้น คลิกที่นี่
 

 

ที่มา  : SET